ถูกฟ้องคดีแพ่งแต่มิได้ยื่นคำให้การภายสู้คดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดมีผลอย่างไร

ผลการขาดนัดยื่นคำให้การโดยสรุป

การขาดนัดยื่นคำให้การมาตรา ๑๙๗  กำหนดว่า เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การแล้ว จำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

          “คําให้การ” หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คําฟ้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

             ซึ่งหากจำเลยหรือคู่ความฝ่ายที่ถือว่าเป็นจำเลยมิได้ยื่นคำให้การ แล้ว ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจกท์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด   โดยศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์ไปฝ่ายเดียวตาม และพิพากษาให้จำเลยหนี้หรือกระทำการตามฟ้องโจทก์ ทำให้จำเลยหมดโอกาสในการต่อสู้คดี

 

ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้ดังนี้

ตาม มาตรา ๑๙๘ วรรคแรกกำหนดว่า  ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ให้โจทก์มีคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด

               มาตรา ๑๙๘ ทวิ  ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้

               เพื่อประโยชน์ในการพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจำเป็นก็ได้ แต่ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

               ในการกำหนดจำนวนเงินตามคำขอบังคับของโจทก์ ให้ศาลปฏิบัติดังนี้

               (๑) ในกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอนให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ส่งพยานเอกสารตามที่ศาลเห็นว่าจำเป็นแทนการสืบพยาน

               (๒) ในกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็น

               มาตรา ๑๙๘ ตรี  ในคดีที่จำเลยบางคนขาดนัดยื่นคำให้การ ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การนั้นไปก่อนและดำเนินการพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ยื่นคำให้การต่อไป แต่ถ้ามูลความแห่งคดีนั้นเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ ให้ศาลรอการพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การไว้ก่อน เมื่อศาลดำเนินการพิจารณาสำหรับจำเลยที่ยื่นคำให้การเสร็จสิ้นแล้ว ก็ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีไปตามรูปคดีสำหรับจำเลยทุกคน

 

บุคคลที่มีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การ เช่น

(1) เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การภายในกำหนด 15 วันนับแต่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ถ้าไม่ยื่นก็ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

(2) โจทก์ที่ถูกจำเลยฟ้องแย้ง โจทก์เดิมที่ฟ้องจำเลยเมื่อถูกจำเลยฟ้องแย้ง โจทก์เดิมก็มีฐานะเป็นจำเลยในส่วนฟ้องแย้ง จึงมีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้ส่งคำให้การถึงโจทก์ ตามาตรา 178 วรรคหนึ่ง ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคำให้การแก้ฟ้องนั้น มาตรา 199 ฉ บัญญัติว่า "ในกรณีที่โจทก์มิได้ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้นำบทบัญญัติในส่วนที่ 1 นี้มาใช้บังคับเพียงเท่าที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งเช่นว่านั้นโดยอนุโลม" หมายความว่า โจทก์ก็จะขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งทันที คดีในส่วนฟ้องแย้งก็จะดำเนินไปแบบคดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

(3) ผู้ร้องสอดที่ถูกหมายเรียกให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีตามมาตรา 57(3) ต้องยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งด้วย ตามมาตรา 177 วรรคสุดท้าย "บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ ให้ใช้บังคับแก่บุคคลภายนอกที่ถูกเรียกเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดตามมาตรา 57(3) โดยอนุโลม" ถ้าไม่ยื่นก็ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าเรียกเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ไม่มีหน้าที่ยื่นคำให้การ

(4) โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีร้องขัดทรัพย์ มีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การแก้คำร้องขัดทรัพย์ เพราะในคดีร้องขัดทรัพย์นั้น ผู้ร้องขัดทรัพย์มีฐานะเป็นโจทก์ ส่วนโจทก์เดิมหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีฐานะเป็นจำเลย ดังนั้น โจทก์เดิมหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การแก้คำร้องขัดทรัพย์ ถ้าไม่ยื่นก็จะตกเป็นผู้ขาดนัดยื่นคำให้การแก้คำร้องขัดทรัพย์

 

อนึ่ง  ทางแก้ของจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ  คือ ยื่นขออนุญาตยื่นคำให้การหรือ  ขอพิจารณาคดีใหม่  แล้วแต่กรณี

ตัวอย่างฎีกา

          ฎีกาที่ 4084/2528 ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การมาศาลศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาจำเลยไม่ได้แถลงข้อความอะไรเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จำเลยมีสิทธิอ้างตนเองเบิกความเป็นพยานหาจำต้องยื่นบัญชีระบุพยานตาม ป.ว.พ. ม.88 แต่อย่างใดไม่ เพราะเป็นการสืบพยานตามที่กฎหมายบัญญัติอนุญาตให้จำเลยซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การมาศาล และศาลไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การสาบานตนให้การเป็นพยานเองได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยนำพยานเข้าสืบเฉพาะที่จำเลยอ้างตนเองเบิกความเป็นพยานจึงเป็นคำสั่งและการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ  ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดีและการพิจารณาพยานหลักฐาน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อนี้ขึ้นมาก็ตาม  ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบนั้นเสียได้ ตามป.ว.พ. ม.27 ประกอบด้วย     ม.247 ในวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยยื่นคำร้องขอยื่นคำให้การ อ้างว่าจำเลยเพิ่งทราบเรื่องที่มีการส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องเมื่อศาลมีหมายแจ้งนัดสืบพยานโจทก์ไปให้ทราบ การขอยื่นคำให้การของจำเลยจึงเป็นการร้องขอเมื่อเสร็จการพิจารณาแล้วก่อนมีคำพิพากษา   กรณีจึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยอ้างต่อศาลว่าไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การเมื่อเริ่มต้นสืบพยาน   หรือแจ้งให้ศาลทราบก่อนเริ่มสืบพยานดังที่บัญญัติไว้ใน  ป.ว.พ. ม.199 ที่ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว จึงไม่ชอบ

          ฎีกาที่ 996/2549 จำเลยร่วมร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) จำเลยร่วมจึงต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าเป็นจำเลยร่วมตามมาตรา 58 วรรคสอง ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การจนศาลสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว จำเลยร่วมย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำให้การของตนเข้ามา อันเป็นการใช้สิทธินอกเหนือจากที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ได้ และเมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วมไว้โดยผิดหลงศาลชั้นต้นชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วมแล้วสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยร่วมให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยร่วมจะเป็นคู่ความในคดีนี้ด้วยหรือไม่ ไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงไป จำเลยร่วมในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ตามกฎหมายการถอนฟ้องจำเลยร่วมซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีนี้และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ของโจทก์จึงไม่กระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 ในการต่อสู้คดีรวมทั้งไม่เป็นการใช้สิทธิ โดยไม่สุจริตแต่อย่างใด

Visitors: 126,012