ครอบครองอยู่อาศัยในที่ดินผู้อื่น 10 ปี อ้างครอบครองปรปักษ์ได้หรือไม่เจ้าของที่ดินฟ้องขับไล่ได้หรือไม่

ครอบครองอยู่อาศัยในที่ดินมีโฉนดของผู้อื่นเกินกว่า 10 ปี ถือว่าครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เจ้าของที่ดินฟ้องขับไล่ได้หรือไม่

           หลักเกณฑ์ ที่จะถือว่าได้กรรมสิทธ์โดยครอบครองปรปักษ์นั้น มาตรา 1382 มิใช่ถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์เสมอไปไม่

            มาตรา 1382 บัญญัติไว้ว่า บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

องค์ประกอบที่สำคัญ คือ ผู้ครอบครองจะต้อง

1.ครองครองโดยสงบ คือ ไม่ถูกจำกัดให้ออกจากที่ดินและไม่มีการฟ้องร้อง แจ้งความเป็นคดีต่อกัน

2.ครอบครองโดยเปิดเผย คือ ครอบครองโดยไม่ได้ปิดบังอำพราง หรือแอบใช้ แอบครอบครอง

3. ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของที่ดินนั้น  ต้องถือตามพฤติการณ์แห่งการเข้ายึดถือครอบครองอยู่อาศัยในที่ดินนั้นเป็นแต่ละกรณี ไป เช่น การหวงกันมิให้บุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง  การดูแลรักษาที่ดินไว้เพื่อประโยชน์แห่งตน การปฎิเสธต่อการอ้างสิทธิของบุคคลอื่น  ครอบครองทำประโยชน์อย่างจริงจัง ไม่ได้อาศัยสิทธิหรือครอบครองแทนผู้ใด เช่น ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทโดยธรรม  ครอบครองทรัพย์ที่เช่าแทนผู้เช่า เข้าไปขออาศัยอยู่โดยความยินยอมอนุญาตของเจ้าของ ไม่ถือว่าครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

4. ต้องครอบครองติดต่อต่อเนื่องกันเกินกว่า 10 ปี (สังหา 5 ปี)

แต่หากไม่ครบหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย มาตรา 1382 แม้ครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ถือว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยครอบครองปรปักษ์ ผู้มีสิทธิในที่ดินสามารถฟ้องขับไล่ออกจากที่ดิน และเรียกค่าเสียหายได้ เช่น

1.ครอบครองทรัพย์มรดกฐานะทายาทหรือผู้จัดการมรดก  โดยยังมิได้มีการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตามมาตรา 1381

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5396/2539  จำเลยที่2รับโอนที่ดินมาจากจำเลยที่1ซึ่งเป็นมารดาและผู้จัดการมรดกของม. ซึ่งเป็นบิดายังถือไม่ได้ว่าเป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกอันจะถูกกำจัดมิให้รับมรดก จำเลยที่1รับโอนที่พิพาทมาในฐานะเป็นมรดกของม.โดยยังไม่ได้มีการแบ่งให้แก่ทายาทอื่นและต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของม. ถือว่าจำเลยที่1ครอบครองที่พิพาทไว้แทนทายาทอื่นด้วยทั้งจำเลยที่1ก็ไม่ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครองไปยังทายาทอื่นแม้จะครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์

2. การเช่าที่ดิน ถือว่าผู้เช่าครอบครองแทนผู้ให้เช่า  ครอบครองมานานเพียงก็อ้างครอบครองปรปักษ์ไม่ได้   เว้นแต่จะได้มีการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตามมาตรา 1381

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 278/2547 จำเลยที่ 5 อยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 9 การอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 5 จึงไม่ใช่การครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยที่ 5 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์

3. กรณีจำนองที่ดิน ถือว่ารับจำนอง ครอบครองแทนผู้จำนอง ครอบครองมานานเพียงก็อ้างครอบครองปรปักษ์ไม่ได้   เว้นแต่จะได้มีการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตามมาตรา 1381

4.กรณีขายฝากผู้รับซื้อฝากเป็นผู้ครอบครองแทนผู้ขายฝาก เว้นแต่มีข้อตกลงว่าจะให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์เมื่อครบกำหนดเวลา หลังครอบกำหนดเวลาแล้วจึงนับเวลาครอบครองปรปักษ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1033/2537  แม้ ส. ได้ชำระเงินค่าไถ่ที่ดินพิพาทจากการขายฝากแล้วมิได้จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม แต่การครอบครองที่ดินพิพาทของ ส.นับแต่บัดนั้นส.ย่อมมีเจตนายึดถือเพื่อตนเมื่อผู้ร้องได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทจากส.โดยส.มอบการครอบครองให้ แล้วผู้ร้องได้ครอบครองที่พิพาทมาจนส.ถึงแก่กรรมและหลังจากนั้นจนถึงวันที่ผู้ร้องมาร้องต่อศาลขอแสดงกรรมสิทธิ์ ก็ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้โต้แย้งการครอบครองของผู้ร้องแต่ประการใด ถือว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันตลอดมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ผู้ร้องย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

5. กรณีเจ้าของรวม ถือว่าเจ้าของรวมคนหนึ่งที่ครอบครองอยู่นั้น ครอบครองแทนเจ้าของรวมคนอื่นครอบครองมานานเพียงก็อ้างครอบครองปรปักษ์ไม่ได้   เว้นแต่จะได้มีการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตามมาตรา 1381

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2434/2549 แม้จำเลยจะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเพียงผู้เดียวก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกับนาง ศ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท นาง ศ. ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการบ่งชี้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทแต่อย่างใด การที่จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นการครอบครองไว้แทนนาง ศ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย

6.ครอบครองโดยไม่สงบ ไม่เปิดเผย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 522/2480เข้าครอบครองทิ่ดินที่ผู้อื่นครอบครองไว้แล้ว แต่ต่างฝ่ายต่างหวงห้ามต่างถือเป็นเจ้าของกันเรื่อยมา จนถึงกับไปแจ้งต่ออำเภอหลายครั้ง จะฟังว่าจำเลยครอบครองโดยความสงบไม่ได้

 

7.กรณีครอบครองติดต่อกันไม่ครบ 10 ปี

 

8. กรณีไม่ถือว่าครอบครองโดยมีเจตเป็นเจ้าของ เช่น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9788/2553

 การครอบครองที่ดินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 นั้น ผู้ครอบครองต้องครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี การที่จะพิจารณาว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของหรือไม่ จึงต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการเข้ายึดถือครอบครองอยู่อาศัยของจำเลยในที่ดินพิพาทว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของหรือไม่  ที่ดินของโจทก์มีผู้บุกรุกเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยจำนวนมากจนเป็นชุมชนแออัด สถาพบ้านที่ปลูกอยู่กันอย่างแออัด มีลักษณะไม่แน่นหนาถาวร ใช้สังกะสีและไม้เก่ามาปลูกสร้าง สามารถปลูกสร้างต่อเติมและรื้อถอนได้โดยง่าย สภาพบ้านของจำเลยซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทมีลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียวอยู่ในสภาพไม่แน่นหนาถาวร ฝากั้นด้วยไม้และสังกะสีเก่า หลังคามุงด้วยสังกะสีเก่า มีสภาพต้องซ่อมแซมบ่อย ลักษณะการปลูกสร้างอยู่เบียดเสียดแทรกอยู่กับบ้านหลังอื่น ไม่มีแนวเขตที่ชัดเจน ตัวบ้านไม่มั่นคงแข็งแรง การปลูกสร้างเข้าลักษณะเป็นการปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยชั่วคราว พร้อมที่จะรื้อถอน ซึ่งการเข้ามาปลูกบ้านในลักษณะนี้เป็นการกระทำโดยพลการ อาศัยโอกาสที่ผู้บุกรุกเข้ามาปลูกสร้างบ้านอยู่ในที่ดินของโจทก์จำนวนมาก จึงยากในการตรวจสอบว่าเป็นบ้านของใคร และแม้บ้านของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทมีเลขที่บ้านและได้ขอติดตั้งน้ำประปาและไฟฟ้า และจำเลยแสดงแก่บุคคลทั่วไปว่าบ้านดังกล่าวเป็นของจำเลย แต่จำเลยเพียงแต่นำบ้านเลขที่เดิมของบิดามารดาของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินที่เช่าอยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่ดินพิพาทและอยู่นอกเขตที่ดินของโจทก์ ซึ่งบิดามารดของจำเลยรื้อถอนบ้านไปแล้วมาใช้เป็นเลขที่บ้านของจำเลยที่จำเลยและบิดามารดาของจำเลยบุกรุกเข้ามาปลูกอาศัยในที่ดินพิพาทของโจทก์ พฤติกรรมของจำเลยที่ปิดบังอำพรางให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าบ้านของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทมีบ้านเลขที่ 809 ทั้งที่บ้านของจำเลยไม่มีเลขที่ประจำบ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่การประปานครหลวงและเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงหลงเชื่อมาติดตั้งประปาและไฟฟ้าให้แก่บ้านจำเลย ประกอบกับจำเลยไม่เคยอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่หรือภาษีโรงเรือนและจำเลยไม่ได้ร้องขอต่อศาลขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ทั้งที่จำเลยอ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์มาตั้งแต่ปี 2514 แต่จำเลยเพิ่งมาฟ้องแย้งขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์เมื่อถูกฟ้องขับไล่คดีนี้ จึงยังไม่แน่ชัดว่าก่อนหน้านี้จำเลยมีเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์อย่างเป็นเจ้าของ พฤติการณ์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ย่อมไม่อาจยกข้ออ้างว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทและจดทะเบียนรับโอนมาโดยไม่สุจริต จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้


ร้องครอบครองปรปักษ์ หรือต่อสู้คดี ปรึกษาทนาย โทร. 0864031447 ไลน์ kobkiatlaw

 

ทนายกอบเกียรติ นบ.นบท.

Visitors: 125,591