ผู้จัดการมรดกโอนที่ดินมรดกเป็นของตนเองแล้วโอนที่ดินต่อไปไม่แบ่งให้แก่ทายาท จะฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1400/2557

โจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตาย จึงเป็นทายาทลำดับที่ 1 มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) , 1598/28 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย เป็นทายาทลำดับ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3)เมื่อโจทก์เป็นทายาทในลำดับที่ 1 ซึ่งยังมีชีวิตอยู่และมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิรับมรดก ตามมาตรา 1630 ทรัพย์มรดกย่อมตกแก่จำเลยที่ 1 ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก โอนที่ดินมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวจึงไม่ชอบ เมื่อจำเลยที่ 1 รับโอนมาแล้วโอนต่อไปให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรย่อมไม่ชอบเช่นกัน(ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน)จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวเมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธินำที่ดินมรดกดังกล่าว ไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 5 เพราะจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน ตาม ป.พ.พ.705 ดังนั้น จำเลยที่ 5 ผู้รับจำนองไม่อาจอ้างว่าตนสุจริตและเสียค่าตอบแทน เพื่อยังให้ตนได้รับความคุ้มครองได้ เพราะกรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง  โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 1715 จึงมีสิทธิติดตามเอาคืน ตาม ป.พ.พ.1336

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2562

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1300, 1733 วรรคสอง

ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดอายุความฟ้องร้องที่กำหนดให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิอ้างอายุความคงจำกัดเพียงเฉพาะแต่บุคคลที่เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทได้

แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและโอนขายต่อไปให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นเป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 380,000 บาท และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรม การขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 27688 และ 27689 โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วน

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27688 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2550 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสอง โดยชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมต่อศาลในส่วนที่โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรรมเนียมศาลในนามของโจทก์ทั้งสอง กำหนดค่าทนายความให้รวม 20,000 บาท

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันฟังได้ความว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายทองหลาง ผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล ผู้ตายมีทรัพย์มรดก คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 26932, 27688 และ 27689 ที่ดินมรดกทั้งสามแปลงดังกล่าวปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ตนเอง ต่อจากนั้นจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายและจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 27688 และ 27689 ตามลำดับ แก่จำเลยที่ 2 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 26932 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากแก่นางรดา สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 27689 ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดขายทอดตลาดเพื่อบังคับคดีที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาคดีอื่นและจดทะเบียนโอนขายตามคำสั่งศาลแก่นายมงคล ผู้ซื้อโดยติดจำนอง ซึ่งต่อมานายมงคลได้ไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ 2 ไปแล้ว

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกมีว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุด" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดอายุความฟ้องร้องที่กำหนดให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิอ้างอายุความคงจำกัดเพียงเฉพาะแต่บุคคลที่เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกมิใช่ทายาทของผู้ตาย จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง ขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ทั้งสองยังไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27688 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า นายทองหลาง ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดกของนายทองหลางผู้ตายจึงตกเป็นของทายาทโดยธรรมคือโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรคนละเท่า ๆ กัน และแม้ว่าการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27688 ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเอง แล้วโอนขายต่อไปให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นคือโจทก์ทั้งสองด้วย เป็นการโอนไปหรือการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทของนายทองหลางและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 380,000 บาท และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 รับโอนโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษามานั้น ไม่ต้องความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

 

สรุปได้ว่า ตามฎีกานี้มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดิน ได้ หากมิใช่บุคคลภายนอกและ หรือรับโอนโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต

Visitors: 125,286