คดีอาญาพนักงานสอบสวนผัดฟ้องหรือฝากขังผู้ต้องหาได้กี่วัน

คดีอาญาพนักงานสอบสวนผัดฟ้องหรือฝากขังผู้ต้องหาได้กี่วัน

การผัดฟ้องและฝากขัง" คือ การที่พนักงานสอบสวนร้องขอให้ศาลขังตัวผู้ต้องหาไว้ ระหว่างที่ทำการรวบรวมพยานหลักฐานในคดี ก่อนทำการสรุปความเห็นในสำนวนยื่นเรื่องให้พนักงานอัยการ ร่างคำฟ้องให้ศาลพิจารณาต่อไป

การผัดฟ้องในศาลแขวง

     ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวงนั้น ถ้าไม่อาจฟ้องผู้ต้องหาภายใน 48 ชั่วโมง พนักงานอัยการต้องนำตัวผู้ต้องหามาศาลและยื่นคำร้องขอฝากขังและผัดฟ้องต่อศาล ศาลอนุญาตได้ไม่เกิน 5 คราว คราว ละไม่เกิน 6 วัน ตาม วิ.แขวง  มาตรา 7

 

การฝากขังในศาลอาญาหรือศาลจังหวัด

        ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกสูงไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้เพียงครั้งเดียว ไม่เกิน 7 วัน กรณีที่ความผิดอาญาอัตราโทษจำคุก สูงเกินกว่า 6 เดือน ไม่ถึง 10 ปี หรือปรับเกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดกัน แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกันไม่เกิน 48 วัน

        สำหรับกรณีความผิดอาญาอัตราโทษสูงตั้งแต่ 10 ปี  ขึ้นไปจะมีโทษปรับหรือไม่ ศาลมีอำนาจสั่งขัง หลายครั้งติดกัน ครั้งละไม่เกิน 12 วัน แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน  84 วัน ดังนั้นผู้ต้องหาจะถูกฝากขังสูงสุดได้ไม่เกิน7ครั้ง ในกรณีที่จังหวัดใดไม่มีศาลแขวง และศาลจังหวัดนำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาใช้บังคับ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะต้องขอผัดฟ้องและฝากขังผู้ต้องหาในคดี ที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในศาลแขวง

 

  วิ.แขวง  มาตรา 7  ในการสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ เมื่อมีการจับตัวผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงาน-อัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาจากที่จับมายังที่ทำการของพนักงานสอบสวนจากที่ทำการของพนักงานสอบสวนและหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาล เข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย  

          ในกรณีที่เกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลให้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าวในวรรคแรก ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกคราวละไม่เกินหกวันแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสามคราว ในการวินิจฉัยคำร้องเช่นว่านี้ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วย หรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่า จะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานมาเบิกความประกอบก็ได้

          เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสามคราวแล้ว หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะอนุญาตตามขอนั้นได้ก็ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาล ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วย หรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาลให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ ในกรณีเช่นว่านี้ ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้คราวละไม่เกินหกวันแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองคราว

          ผู้ต้องหาจะแต่งทนายเพื่อแถลงข้อคัดค้าน และซักถามพยานก็ได้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87

 ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี

 ในกรณีความผิดลหุโทษ จะควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การ และที่จะรู้ตัวว่าเป็นใครและที่อยู่ของเขาอยู่ที่ไหนเท่านั้น

 ในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวน หรือการฟ้องคดี ให้นำตัวผู้ถูกจับไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา 83 เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ โดยให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้ ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้

 ในกรณีความผิดอาญาที่ได้กระทำลงมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียว มีกำหนดไม่เกินเจ็ดวัน ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึงสิบปี หรือปรับเกินกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินสี่สิบแปดวัน ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินแปดสิบสี่วัน

 ในกรณีตามวรรคหกเมื่อศาลสั่งขังครบสี่สิบแปดวันแล้ว หากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอขังต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะสั่งขังต่อไปได้ก็ต่อเมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนได้แสดงถึงเหตุจำเป็น และนำพยานหลักฐานมาให้ศาลไต่สวนจนเป็นที่พอใจแก่ศาล ในการไต่สวนตามวรรคสามและวรรคเจ็ด ผู้ต้องหามีสิทธิแต่งทนายความเพื่อแถลงข้อคัดค้านและซักถามพยาน ถ้าผู้ต้องหาไม่มีทนายความเนื่องจากยังไม่ได้มีการปฏิบัติตามมาตรา 134/1 และผู้ต้องหาร้องขอ ให้ศาลตั้งทนายความให้ โดยทนายความนั้นมีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 134/1 วรรคสาม โดยอนุโลม

 ถ้าพนักงานสอบสวนต้องไปทำการสอบสวนในท้องที่อื่นนอกเขตของศาลซึ่งได้สั่งขังผู้ต้องหาไว้ พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขอให้โอนการขังไปยังศาลในท้องที่ที่จะต้องไปทำการสอบสวนนั้นก็ได้ เมื่อศาลที่สั่งขังไว้เห็นเป็นการสมควรก็ให้สั่งโอนไป


ขอบคุณภาพประกอบจาก เฟสบุกเพจ สื่อศาล 

Visitors: 143,129