คดีบัตรเครดิตมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันใด

คดีบัตรเครดิดนั้นมีอายุความ ๒ ปีนับแต่วันที่ถือว่าลูกหนี้ผิดนัด หรือวันที่มีการชำระหนี้ครั้งสุดท้าย เมื่อถุกฟ้องแล้วหากคดีขาดอายุความจำเลยสามารถปฎิเสธหนี้ โดยการให้ทนายความยื่นคำให้การต่อสู้คดีให้ศาลยกฟ้องโจทก์ได้ 


   ตัวอย่างเช่น

      คดีเรื่องหนึ่งจำเลยทำสัญญาขอใช้บัตรเครดิต กับ  บริษัท หลอดนีออน สินทรัพย์(ไทยแลนด์)  จำกัด (มหาชน)  สำหรับนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ แทนเงินสด และเบิกถอนเงินผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม)  สิทธิเรียกร้องดังกล่าว จึงมีอายุความ  ๒  ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๙๓/๓๔ (๑)ซึ่งกำหนดว่า สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความ ๒ ปี (๗) (7) บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน (1) แต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการ ดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำงานการต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น รวมทั้งเงิน ที่ได้ออกทดรองไป 

       คดีนี้โจทก์ เป็น บริษัท เคเอฟซี เน็ตเวอร์คเซอร์วินเซสฯ ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องหรือซื้อหนี้เสียมาจาก จากบริษัท หลอดนีออน สินทรัพย์(ไทยแลนด์)  จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการค้า มาฟ้องจำเลย  ซึ่งจำเลยสมัครสมาชิกบัตรเครดิด บีการ์ด กับ บริษัท หลอดนีออนฯ โดยจำเลยชำระหนี้บางส่วนสรุปยอดหนี้ที่จำเลยค้างชำระ  ณ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๒  ซึ่งถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันดังกล่าว   โจทก์สามารถบังคับตามสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องได้ตั้งแต่    วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๒ หรือวันชำระหนี้ครั้งสุดท้ายอันทำให้อยุุความสะดุดหยุดลง อายุความจึงเริ่มนับในวันดังกล่าวหรือวันถัดมาแล้วแต่กรณี 

          เมื่อคดีนี้โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจาก บริษัท หลอดนีออนฯ  และยื่นฟ้องเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙   จึงพ้นกำหนด ๒ ปี  นับแต่วันที่   ๒๐ กันยายน ๒๕๕๒  อันเป็นวันเริ่มนับอายุความ  ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยสามารถปฎิเสธการชำระหนี้ดังกล่าวได้ ศาลจึงต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์  เป็นต้น


ตัวอย่าง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5384/2551

หนี้จากการใช้บัตรเครดิตไม่ว่าจะเป็นหนี้จากการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ หรือหนี้จากการถอนเงินสด ล้วนเป็นหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตด้วยกัน จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ไม่อาจแยกบังคับนับอายุความแตกต่างกันได้
การรับสภาพหนี้โดยการชำระหนี้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้น จำเลยจะต้องเป็นผู้กระทำหรือยินยอมให้กระทำ ดังนั้น การที่โจทก์หักทอนบัญชีเงินฝากของจำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตอันเป็นการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ โดยมิได้มีข้อตกลงกันไว้ขณะทำสัญญา ดังนี้ แม้จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจะถือว่าจำเลยยินยอมในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวด้วยหาได้ไม่ กรณีไม่ถือว่าจำเลยชำระหนี้บางส่วนอันเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งจะมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ

________________________________


จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์และได้ใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและบริการรวมทั้งถอนเงินสดรวมเป็นเงินจำนวน 160,000 บาท และโจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าและบริการแทนจำเลยไป หลังจากนั้นโจทก์แจ้งยอดใช้จ่ายให้จำเลยทราบ จำเลยใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้ายวันที่ 30 มกราคม 2539 โจทก์หักทอนบัญชีถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยมีหนี้ค้างชำระจำนวน 182,941.05 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาตามหนังสือและใบตอบรับในประเทศ แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ ที่โจทก์ฎีกาว่า หนี้ตามสัญญาบัตรเครดิตที่โจทก์นำมาฟ้องรวมถึงหนี้ที่จำเลยใช้บัตรเครดิตถอนเงินสดจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติหรือสำนักงานสาขาของโจทก์จำนวน 3 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 160,000 บาท และยังมีค่าธรรมเนียมถอนเงินสดจำนวน 6,840 บาท ด้วย ซึ่งการใช้บัตรเครดิตถอนเงินสดดังกล่าวมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายไปให้บุคคลอื่นก่อนแล้วจึงเรียกเก็บจากจำเลย แต่เป็นกรณีที่จำเลยถอนเงินสดของโจทก์ออกไปใช้อันมีลักษณะเช่นเดียวกับการเบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์และจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์ หนี้ในส่วนของการถอนเงินสดจึงไม่อยู่ในบังคับของอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) และเมื่อไม่มีกำหนดอายุความไว้จึงใช้อายุความทั่วไปมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 นับแต่วันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้นั้น เห็นว่า สำหรับบัตรเครดิตไม่ว่าจะเป็นหนี้อันเกิดจากการถอนเงินสดหรือหนี้จากการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ย่อมเป็นหนี้อันเกิดจากสัญญาใช้บัตรเครดิตเดียวกัน จึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) ไม่อาจจะแยกบังคับนับอายุความแตกต่างกันได้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5319/2544 ระหว่างธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ นางจุฑามาศจำเลย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า การที่โจทก์ใช้สิทธิหักทอนบัญชีเงินฝากของจำเลยมาชำระหนี้บัตรเครดิตโดยมิได้มีข้อตกลงกันไว้เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ตามมาตรา 341 แม้จำเลยมิได้ให้ความยินยอมแต่เมื่อโจทก์ได้หักทอนบัญชีแล้วโจทก์ก็ได้ส่งใบแจ้งยอดใช้จ่ายให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านย่อมถือได้ว่าจำเลยยินยอมในการที่โจทก์หักทอนบัญชีเงินฝากของจำเลยมาชำระหนี้บัตรเครดิตจึงถือได้ว่าจำเลยได้ชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์อันเป็นการรับสารภาพหนี้ด้วยการชำระหนี้บางส่วนทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตั้งแต่วันที่อายุความสะดุดหยุดลง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า การรับสภาพหนี้โดยการชำระหนี้บางส่วนที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้น จำเลยจะต้องเป็นผู้กระทำหรือยินยอมให้กระทำจึงจะถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้ ดังนั้น การที่โจทก์หักทอนบัญชีเงินฝากของจำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตโดยพลการ แม้จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจะถือว่าจำเลยยินยอมในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวด้วยนั้นหาได้ไม่ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นการชำระหนี้บางส่วนของจำเลยที่จะถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้มีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

             โดย ทนายกอบเกียรติ นบ.นบท. โทร. 0864031447   


Visitors: 140,601