ถูกทำละเมิดโดยการด่า ประจานหรือหมิ่นประมาทจะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้เท่าไร อาศัยหลักเกณฑ์ใด

ละเมิดสิทธิและละเมิดโดยการกล่าว/ไขข่าวใส่ความให้ผู้ือื่นเสียหาย

 

โดยปกติเป็นกรณีหมิ่นประมาทหรือ ใส่ความผู้อื่น หรือธุรกิจผู้อื่น เช่น โดยการโพสต์ข้อความทางอินเตอร์เน็ท เฟสบุ๊ก หรือพูดใส่ความต่อบุคคลที่ ๓ ให้ผู้อื่นเสียหาย การเรียกค่าเสียหาย ค่าสินไหมทดแทน มีกฎหมายบัญญัติไว้ดังนี้ คือ 

 

มาตรา ๔๒๐  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

 

มาตรา ๔๒๓      ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดีท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้

                   ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

 

ข้อพิจารณาความเสียหาย

1. เป็นที่ เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่น... หมายถึงทำให้บุคคลอื่นเสียชื่อเสียงถูกดูหมินหรือถูกเกลียดชัง เช่นเดียวกับการหมิ่นประมาทในคดีอาญา เช่น  พูดจาใส่ความผู้หญิงว่าเป็นโสเภณี ใส่ความในหน้าที่การงานว่าทุจริตคดโกง  ว่าบุคคลอื่นว่าเป็นคนขี้โกง  เป็นข้าราชการกินสินบาทคาดสินบนอย่างนี้เป็นต้น

2.  เป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญเติบโตของเขาโดยประการอื่น  เช่น  พูดใส่ความบุคคลอื่นว่าเป็นคนขี้โกงขายสินค้าไม่มีคุณภาพสินค้าปลอมเป็นการใส่ความกิจการของบุคคลอื่น ทำให้เสียหายในทางทรัพย์สินทางทำมาหากิน  ทำมาหาได้หรือทางเจริญเติบโตในหน้าที่การงานหรือกิจการธุรกิจ

ทำให้รายได้ลดลงกล่าวหมิ่นประมาททำให้กระทบต่อชื่อเสียงบุคคลไม่เชื่อถือในทางการค้าขาดโอกาสสูญเสียโอกาสที่จะได้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในองค์กรหน่วยงานต่างๆเป็นผลมาจากการถูกหมิ่นประมาทดังกล่าว  โดยผู้เสียหายหรือโจทก์มีภาระการพิสูจน์ในค่าเสียหายให้ได้ว่ารายได้ลดลงเพียงใด ซึ่งหากนำสืบพิสูจน์ไม่ได้ศาลจะกำหนดให้เสียหายตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 438

       กล่าวโดยสรุป  คือ  ศาลจะกำหนดค่าเสียหายจากพฤติการณ์ความร้ายแรงของการละเมิดดังกล่าว  มีความเสียหายมากน้อยเพียงใด   โจทก์เป็นคนมีชื่อเสียงเกียรติคุณมากน้อยเพียงใด เช่น เป็นดารา นางแบบ นักการเมือง บริษัทยักษ์ใหญ่ หรือเป็นข้าราชการ บุคคลทั่วไป  การละเมิดมีความร้ายแรงแค่ไหน เสียหายเป็นวงกว้างหรือ วงแคกบ ๆ เช่นกล่าวต่อสื้อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สื่ออินเตอร์เน็ตเฟสบุ๊กต่าง ๆ  หรือ รู้ค่คนเดียวหรือสองคน การละเมิดทำให้กิจการรายได้ลดลงเพียงใด เป็นต้น  ค่าเสียหายย่อมแตกต่างกันไป

        ความเสียหายอาจจะหลักพันหลักหมื่นหรือหลักล้านหรือ สิบล้านก็ได้แล้วแต่ข้อเท็จจริงพยานหลักฐานนคดีนั้น ๆ นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาตจากว่าผู้เสียหายหรือโจทก์มีส่วนผิดอยู่ด้วยหรือไม่ และจำเลยมีการบรรเทาความเสียหายไว้หรือไม่ ซึ่งศาลอาจจะกำหนดค่าสียหายโดยลดจำนวนค่าเสียหายลงได้ด้วยเหตดังกล่าว

 

มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยเกี่ยวกับค่าเสียหายไว้ดังนี้

   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4893/2558  แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นสื่อมวลชน มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาหรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ๆ แต่ก็หาอาจกระทำการใด ๆ ที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น การที่จำเลยทั้งสองนำข่าวการมีเพศสัมพันธ์ของชายหญิงคู่หนึ่งซึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ เคยนำเสนอภาพและข่าวไปก่อนหน้านั้น แต่ยังไม่ได้ระบุว่าชายหญิงในภาพเป็นใครมาเผยแพร่ซ้ำโดยระบุในเนื้อข่าวว่า ชายในภาพที่กำลังมีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนรักคือโจทก์ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายต้องแจ้งชื่อ ลักษณะแห่งความผิดและพฤติการณ์ต่าง ๆ ต่อพนักงานสอบสวนเป็นหน้าที่ที่ผู้เสียหายต้องกระทำในการร้องทุกข์กล่าวโทษ จะถือว่าโจทก์ยินยอมเปิดเผยชื่อและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชนหาได้ไม่ แม้โจทก์จะเป็นนักการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะ แต่ก็ย่อมมีสิทธิของความเป็นส่วนตัว มิใช่ว่าเมื่อเป็นนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะแล้วจะทำให้สิทธิในความเป็นส่วนตัวต้องสูญสิ้นไปทั้งหมด การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่มิใช่เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงตาม มาตรา 423 โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณและความเสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของตนโดยประการอื่นตามมาตรา 423 ได้ โดยจำเลยทั้งสองต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น และแม้จะมีบุคคลอื่นกระทำละเมิดด้วยก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้กระทำละเมิดรายนั้น ๆ มิใช่เหตุตามกฎหมายที่จำเลยทั้งสองจะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลปรับลดค่าเสียหายที่ตนต้องรับผิดลง แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 34 จะบัญญัติคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และมาตรา 28 บัญญัติให้ผู้ถูกกระทำละเมิดสามารถยกขึ้นเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีบทบัญญัติในทำนองเดียวกันนี้ก็ตาม แต่การที่จะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบระหว่างบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 194,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์มิได้เสียหายตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 10,040,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท คำขออื่นให้ยก

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะบริหารธุรกิจและผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นสมาชิก กรรมการบริหาร และรองโฆษกพรรคความหวังใหม่ เป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นกรรมการบริหารของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2546 มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับและสื่อต่าง ๆ เผยแพร่ข่าวและรูปภาพชายหญิงกำลังร่วมเพศโดยตกแต่งภาพให้มัวมองเห็นไม่ชัด ต่อมาหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 28 และ 29 สิงหาคม 2546 ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ได้ลงพิมพ์ข้อความ โดยระบุว่า ผู้ชายที่ปรากฏในรูปภาพชายหญิงกำลังร่วมเพศกัน คือโจทก์

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เป็นการทำหน้าที่ในฐานะสื่อสารมวลชน ข่าวที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึกเป็นข่าวที่มีมาจากการที่โจทก์ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ผู้ที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งการเสนอข่าวในลักษณะเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเพราะจะทำให้บุคคลที่ได้อ่านข่าวทราบว่าโจทก์ถูกกลั่นแกล้งจากอดีตภริยาของโจทก์และจะทำให้ประชาชนสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าโจทก์ซึ่งเป็นนักการเมือง มีความน่าเคารพและน่าเชื่อถือได้เพียงใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ เห็นว่า การที่ชายหญิงมีเพศสัมพันธ์กันโดยความยินยอมพร้อมใจในสถานที่อันมิดชิดและเหมาะสมเป็นวิถีชีวิตตามปกติของสังคมมนุษย์ และถือเป็นสิทธิในความเป็นส่วนตัว ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 34 ที่บัญญัติว่า "สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง" ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นสื่อมวลชน มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาหรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ๆ แต่ก็หาอาจกระทำการใด ๆ ที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น การที่จำเลยทั้งสองนำข่าวการมีเพศสัมพันธ์ของชายหญิงคู่หนึ่งซึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ เคยนำเสนอภาพและข่าวไปก่อนหน้านั้น แต่ยังไม่ได้ระบุว่าชายหญิงในภาพเป็นใครมาเผยแพร่ซ้ำโดยระบุในเนื้อข่าวว่า ชายในภาพที่กำลังมีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนรักคือโจทก์ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

จำเลยทั้งสองอ้างมาในฎีกาว่า โจทก์ยอมเปิดเผยชื่อและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อพนักงานสอบสวนแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำข้อเท็จจริงต่าง ๆ มาเผยแพร่ได้นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายต้องแจ้งชื่อ ลักษณะแห่งความผิดและพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดได้กระทำลงนั้นเป็นหน้าที่ที่ผู้เสียหายต้องกระทำในการร้องทุกข์กล่าวโทษตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 123 กำหนดไว้ ทั้งนี้เพื่อปกป้องสิทธิของตนจากการถูกละเมิด จะถือว่าโจทก์ยินยอมเปิดเผยชื่อและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชนหาได้ไม่ ยิ่งเมื่อพิจารณาเนื้อหาข่าวที่จำเลยทั้งสองนำมาลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 28 และ 29 สิงหาคม 2546 พบว่ามีขอบเขตที่กว้างกว่าการเสนอข่าวการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 29 สิงหาคม 2546 ที่พาดหัวข่าวว่า "ดร. แจ้งจับเมียแพร่ซีดีไฮโซฉาว... ดร. พระเอก "วีซีดีไฮโซสาว" แจ้งจับอดีตเมียและแม่ยาย อ้างเป็นต้นตอนำ "วีดีโอ" ภาพการร่วมรักกับแฟนสาวไฮโซออกเผยแพร่... รวมทั้งถ้อยคำในข่าวหน้า 15 ที่ระบุว่า "สำหรับวีซีดีไฮโซดังกล่าวได้เผยแพร่ออกสู่สายตาประชาชนในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม โดยเป็นภาพการร่วมรักระหว่างนายอัครเวชกับแฟนไฮโซ ซึ่งเป็นลูกสาวของบุคคลที่มีชื่อเสียงของเมืองไทยในลีลาต่าง ๆ ..." ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองข้างต้นจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์เป็นนักการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะ จำเลยทั้งสองจึงสามารถนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวโจทก์มาเปิดเผยได้ เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นนักการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะ แต่ก็ย่อมมีสิทธิของความเป็นส่วนตัว มิใช่ว่าเมื่อเป็นนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะแล้วจะทำให้สิทธิในความเป็นส่วนตัวต้องสูญสิ้นไปทั้งหมด ทั้งการที่จำเลยทั้งสองนำข่าวการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับหญิงคนรักซึ่งถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้มาเผยแพร่ซ้ำ ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อสาธารณชน มีแต่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างมากขึ้นซึ่งข้อนี้จำเลยที่ 2 ได้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ว่า ไม่สามารถอธิบายได้ว่าการลงข่าวดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างไร เท่ากับเป็นการยอมรับว่าข่าวการมีเพศสัมพันธ์ของโจทก์กับหญิงคนรักไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนตามที่กล่าวอ้าง สำหรับที่จำเลยทั้งสองอ้างมาในฎีกาว่า ข่าวที่ลงไปนั้นจะช่วยบรรเทาความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นข่าวที่เกิดประโยชน์แก่โจทก์โดยตรงนั้น เห็นว่า นอกจากตัวโจทก์เองที่เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนแล้ว บุคคลโดยทั่วไปที่อยู่ในภาวะเดียวกับโจทก์ก็ไม่น่าจะมีบุคคลใดที่ยินดีให้จำเลยทั้งสองนำชื่อของตนไปเปิดเผยว่าเป็นบุคคลเดียวกับบุคคลที่ปรากฏในภาพการมีเพศสัมพันธ์ที่ตกเป็นข่าว ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และของจำเลยทั้งสองว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด ในปัญหานี้โจทก์ฎีกาว่า ค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดยังน้อยเกินไป และการที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้จากการเป็นกรรมการบริหารบริษัทประสิทธิรัตน์ จำกัด และการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินบริษัทบราโว แอนด์ ซับพลาย จำกัด โดยเห็นว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งการที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าไม่อาจแยกความเสียหายจากการถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิในชื่อเสียงและความเป็นอยู่ส่วนตัวตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติรับรองและคุ้มครองออกจากความเสียหายจากการทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ได้นั้นเป็นการไม่ชอบ ส่วนจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดนั้นสูงเกินไป เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 มิใช่เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ตามมาตรา 423 โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณและความเสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของตนโดยประการอื่นอันเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดตามมาตรา 423 ได้ โจทก์คงเรียกได้เฉพาะค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวเท่านั้น กรณีจึงไม่ต้องวินิจฉัยข้อฎีกาของโจทก์และของจำเลยทั้งสองที่เกี่ยวกับค่าเสียหายส่วนอื่น ๆ สำหรับค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงการที่จำเลยทั้งสองไม่เคยเสนอข่าวในทางที่ทำให้โจทก์เสียหายมาก่อน เพิ่งมาเสนอข่าวหลังจากโจทก์ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ผู้ที่นำข่าวและภาพโจทก์มีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนรักไปเผยแพร่ก่อนหน้านั้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองยังมีจรรยาบรรณของผู้มีอาชีพสื่อมวลชนอยู่ ทั้งเนื้อข่าวบางส่วนน่าจะมีผลเป็นการปรามผู้ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์อยู่หรือคิดจะกระทำละเมิดต่อโจทก์ให้หยุดการกระทำหรือยกเลิกความคิดที่จะกระทำนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองถือว่าไม่ร้ายแรงมากนัก เห็นควรปรับลดค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมา โดยกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์เป็นเงิน1,000,000 บาท

ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างมาในฎีกาว่า มีบุคคลอื่นกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยศาลจึงควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดเพียงบางส่วนเท่านั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้หนึ่งที่กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองย่อมต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้จะมีบุคคลอื่นกระทำละเมิดด้วยก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้กระทำละเมิดรายนั้น ๆ มิใช่เหตุตามกฎหมายที่จำเลยทั้งสองจะยกขึ้นอ้างเพ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1479/2542โจทก์เคยได้รับเลือกเป็นกรรมการสหภาพแรงงานการประปาแห่งประเทศไทยเคยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างศาลแรงงาน กรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ และโจทก์ยังมีอาชีพเป็นตัวแทนหาประกันชีวิตของบริษัท ท. แม้ตำแหน่งต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นจะไม่ได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งมิใช่เนื่องจากการหมิ่นประมาทของจำเลยก็ตาม แต่การที่โจทก์เคยได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ดังกล่าวย่อมแสดงว่าโจทก์เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงดี ได้รับการยกย่องจากเพื่อนร่วมงานอย่างมาก นอกจากนั้นการที่โจทก์เป็นตัวแทนหาประกันชีวิต โจทก์จะต้องไม่เป็นบุคคลที่มีความประพฤติเสียหาย จึงจะมีผู้เชื่อถือซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตผ่านโจทก์ฉะนั้น การที่จำเลยกล่าวหาโจทก์ในเรื่องที่แสดงว่าโจทก์ไม่ซื่อสัตย์ ย่อมต้องกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติคุณและทางทำมาหาได้ของโจทก์อันทำให้โจทก์เสียหาย

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานการประปานครหลวงตำแหน่งช่างฝีมือ 3 ส่วนทะเบียนและซ่อมบำรุง กองบริการภายในจำเลยเป็นพนักงานการประปานครหลวงตำแหน่งผู้อำนวยการบำรุงรักษาเมื่อประมาณต้นเดือนเมษายน 2534 จำเลยกระทำการละเมิดต่อโจทก์ด้วยการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงโดยกล่าวใส่ความโจทก์ต่อนายสุชาติ โสภณธรรมวาทีและนายสอาด เสียงสืบงาม ว่า "ตอนสมัยที่โจทก์ยังคงทำงานอยู่ที่เขตบริการพระโขนง โจทก์ได้ไปลักเจาะท่อประปาใหม่ให้แก่โรงน้ำแข็งในพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการผิดระเบียบของการประปานครหลวง โจทก์ถูกตั้งกรรมการสอบสวนมีโทษหนักถึงไล่ออกจากงาน และตัวจำเลยเป็นกรรมการสอบสวนเอาความผิดแก่โจทก์ด้วย โจทก์ไปขอร้องให้ช่วยเหลือมิฉะนั้นครอบครัวจะเดือดร้อน โจทก์ต้องถูกไล่ออกจากงาน จำเลยสงสารเห็นแก่ครอบครัวจึงได้ช่วยเหลือให้โจทก์พ้นผิดจากการถูกลงโทษ ถ้าจำเลยไม่ช่วยเหลือก็ต้องถูกไล่ออกจากงานไปแล้ว" ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริงจำเลยจงใจกล่าวใส่ความโจทก์เพื่อให้บุคคลอื่น ผู้บังคับบัญชาผู้ร่วมงาน เพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง และบุคคลทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์มีพฤติการณ์เช่นที่จำเลยใส่ความ ทำให้โจทก์ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง เสื่อมเสียต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ และทางทำมาหาได้โจทก์เคยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงานกลางได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานของกระทรวงมหาดไทย ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานการประปาแห่งประเทศไทย ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์การประปานครหลวงเป็นที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนหลายแห่ง เป็นหัวหน้าหน่วยของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด และดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับบ้านและที่ดินจัดสรร โจทก์ขอคิดค่าเสียหายที่ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ความเชื่อถือ และทางทำมาหาได้ทั้งสิ้นเป็นเงิน1,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ เดลิมิเรอร์ บ้านเมือง และมติชน โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกล่าวใส่ความโจทก์ต่อนายสุชาติ โสภณธรรมวาที และนายสอาด เสียงสืบงาม ด้วยข้อความที่ฝ่าฝืนต่อความจริง จำเลยเคยกล่าวต่อบุคคลทั้งสองเมื่อวันที่21 มกราคม 2534 ว่า "พวกของโจทก์เจาะท่อประปาไปใช้ที่โรงน้ำแข็งแล้วถูกออกจากงาน จำเลยได้ช่วยไว้โดยนำไปฝากเข้าทำงานกับเพื่อนของจำเลยซึ่งรับเหมาวางท่อประปา" จำเลยชี้แจงความหมายของคำพูดดังกล่าวต่อโจทก์ว่าเป็นการกล่าวถึงพวกของโจทก์ มิได้เป็นการกล่าวหมิ่นประมาทหรือใส่ความโจทก์ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเป็นจำนวนที่สูงเกินจริง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้ลงพิมพ์โฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์หนังสือพิมพ์บ้านเมือง และหนังสือพิมพ์มติชน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระเงินค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติในเบื้องต้นว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยกล่าวหรือไขข่าวต่อนายสุชาติ โสภณธรรมวาที และนายสอาด เสียงสืบงามว่าโจทก์ลักน้ำประปาโดยเจาะต่อท่อประปาให้กับโรงน้ำแข็งในพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต และโจทก์เคยได้รับเลือกเป็นกรรมการสหภาพแรงงานการประปาแห่งประเทศไทย กรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานการประปานครหลวง จำกัด เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างศาลแรงงาน กรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ และโจทก์ยังมีอาชีพเป็นตัวแทนหาประกันชีวิตของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด แต่ที่โจทก์ไม่ได้รับเลือกและแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าวเนื่องจากสหภาพแรงงานการประปาแห่งประเทศไทยถูกยุบโดยคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ทำให้โจทก์ไม่อาจได้รับเลือกเป็นกรรมการสหภาพแรงงานการประปาแห่งประเทศไทย และไม่อาจได้รับแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาสมทบโดยการเลือกของสหภาพแรงงานการประปาแห่งประเทศไทยส่วนที่โจทก์ไม่ได้รับเลือกเป็นกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานการประปานครหลวง จำกัด เนื่องจากโจทก์ลาออกจากสมาชิกภาพจึงขาดคุณสมบัติ ส่วนกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2525 จนถึงเดือนมีนาคม 2535 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยมีเพียงข้อเดียวว่าโจทก์เสียหายเพียงใดเห็นว่า แม้ตำแหน่งต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นจะไม่ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งมิใช่เนื่องจากการหมิ่นประมาทของจำเลยก็ตามแต่การที่โจทก์เคยได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ย่อมแสดงว่าโจทก์เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงดีได้รับการยกย่องจากเพื่อนร่วมงานอย่างมาก นอกจากนั้นการที่โจทก์เป็นตัวแทนหาประกันชีวิตของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัดโจทก์จะต้องไม่เป็นบุคคลที่มีความประพฤติเสียหาย จึงจะมีผู้เชื่อถือซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตผ่านโจทก์ ฉะนั้น การที่จำเลยกล่าวหาโจทก์ในเรื่องที่แสดงว่าโจทก์ไม่ซื่อสัตย์ ย่อมต้องกระทบต่อชื่อเสียง เกียรติคุณและทางทำมาหาได้ของโจทก์เป็นแน่อันทำให้โจทก์เสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท และให้ลงพิมพ์คำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันจำนวน 4 ฉบับ โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยจึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7869/2542   ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เมื่อปรากฏว่าคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องได้ถึงที่สุดโดยพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งนี้ศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงในคดีอาญาซึ่งฟังยุติแล้วว่าข้อความหรือเนื้อหารายละเอียดการลงข่าวดังกล่าวเป็นการใส่ความโจทก์ด้วยการเผยแพร่โฆษณาทางหนังสือพิมพ์โดยประการที่ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง จำเลยที่ 2 ไม่อาจนำสืบพิสูจน์ว่าข้อความหรือเนื้อหารายละเอียดที่ใส่ความโจทก์นั้นเป็นความจริงหรือเป็นการเสนอข่าวสารอันจำเลยที่ 2 มิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง ศาลฎีกาจะฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นหาได้ไม่ เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ คดีนี้จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 วรรคหนึ่ง

จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ 2ด้วยตามมาตรา 425

โจทก์เป็นนักการเมืองอาวุโสมีชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนทั่วไปเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ติดต่อกันถึง 6 สมัย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ขณะเกิดเหตุเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่และเป็นหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม โจทก์เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทั้งขาดความเชื่อถือทางการค้า และสูญเสียโอกาสในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นนี้ การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 5,000,000 บาท จึงนับว่าเหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3275/2545ในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คำพิพากษาคดีอาญานอกจากจะผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความในคดีแล้ว ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงในคดีอาญาฟังว่า ข้อความหรือเนื้อหารายละเอียดที่จำเลยที่ 1 ลงพิมพ์โฆษณานั้นเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ข้อเท็จจริง จึงฟังว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นเมื่อคดีฟังว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใส่ความโจทก์หรือมีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด ลำพังการเป็นเจ้าของและผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับพิพาทให้แก่ประชาชนทั่วไปไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้ร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์

ปัญหาว่าศาลล่างพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วย มาตรา 246 และ 247

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายวีนัส กรสุรัตน์ เป็นผู้ดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นเจ้าของผู้นำออกจำหน่ายหนังสือพิมพ์รายวันดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2538 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันพิมพ์และโฆษณาในหนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับประจำวันที่ 27 มิถุนายน 2538 ในคอลัมน์หน้าบันเทิง โดยพิมพ์ข้อความเป็นหัวข่าวว่า "จิกจักรวาล ! หึ่ง "ปุ๋ย" โอ.เค. นู้ด ! 5 ล้าน !" และมีใจความในเนื้อข่าวว่า "กระแสคลั่งนู้ดโหมหนักไม่เว้นกระทั่งนางงามจักรวาล "ปุ๋ย" ภรณ์ทิพย์... ปุ๋ยยกตำแหน่งหรูการันตีขูดค่าแก้ผ้า 5 ล้าน... ทางนิตยสาร "มิส" อัลบัมนู้ด... ได้ส่งตัวแทนไปทาบทาม "ปุ๋ย"ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนกนางสาวไทยและนางงามจักรวาลปี 2531 เพื่อมาถ่ายอัลบัมด้วยแต่ปรากฏว่าทาง "ปุ๋ย" เรียกค่าตัวเพื่อการนี้สูงถึง 5 ล้านบาท จึงจะยอมถ่าย... อย่างตอนนี้มิสไปติดต่อปุ๋ยใช่ไหม ปุ๋ย โอเค แต่เงินไม่ถึง ก็คอยดูต่อไปก็แล้วกัน เดี๋ยวเล่มอื่นก็เอาไปถ่ายจนได้ เงินแค่ 5 ล้านบาท ถ้าจะทำกันจริง ๆ ต้องมีคนกล้าเสี่ยงแน่นอน..." ซึ่งเป็นความเท็จ จำเลยทั้งสองมีเจตนาร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้บุคคลที่สามและประชาชนทั่วไปที่ได้อ่านข้อความในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเกิดความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังขาดความเชื่อถือ และเข้าใจผิดในตัวโจทก์ ประเมินเกียรติยศ คุณสมบัติการกระทำการดำรงชีวิต พื้นฐานครอบครัว วงศ์ตระกูล ของโจทก์ว่า ต่ำสิ้นคิดหมดทางทำมาหากินต้องแก้ผ้าถ่ายรูปหาเงินมาเลี้ยงชีพ ทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงความนิยม ภาพลักษณ์ และมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานอาชีพของโจทก์ โดยเฉพาะหน้าที่การงานด้านประชาสัมพันธ์ การถ่ายแบบต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติยศของตนเอง 15,000,000 บาท ต่อชื่อเสียง วงศ์ตระกูล 5,000,000 บาทต่ออาชีพหน้าที่การงาน 10,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 มิถุนายน 2539)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดและต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว คำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าว นอกจากจะผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความในคดีแล้ว ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงในคดีอาญาฟังเป็นยุติแล้วว่าข้อความหรือเนื้อหารายละเอียดที่จำเลยที่ 1 ลงพิมพ์โฆษณานั้น เป็นการใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจฎีกาโต้แย้งว่าข้อความหรือเนื้อหารายละเอียดที่ใส่ความโจทก์นั้นเป็นการเสนอข่าวสารหรือส่งข่าวอันจำเลยที่ 1 มิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง ข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อคดีอาญาฟังเป็นยุติว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ใส่ความโจทก์หรือมีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด ลำพังแต่เพียงได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับพิพาทให้แก่ประชาชนทั่วไป จึงไม่เพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ดังนั้น คดีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปว่า ค่าสินไหมทดแทนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นสูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้รับคัดเลือกให้เป็นนางสาวไทยและนางงามจักรวาล เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติยศของโจทก์ ของวงศ์ตระกูล ตลอดจนอาชีพและหน้าที่การงาน ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าสินไหมทดแทนมานั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2118/2553 ข้อมูลเปรียบเทียบศักยภาพของจำเลยในใบแผ่นพับโฆษณา จำเลยแสดงผลการเปรียบเทียบให้เห็นว่าโรงพยาบาลของจำเลยดีกว่า น่าใช้บริการมากกว่า เพราะมีผู้ประกันตนที่รับได้จำนวนมากที่สุด สะดวกสบายกว่า มีจำนวนเครือข่ายหลายแห่งกว่ามีประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยมากกว่าเพราะมีผู้เข้าร่วมโครงการประกันสังคมเป็นจำนวนมากกว่าใคร โรงพยาบาลของจำเลยใหญ่กว่าเพราะมีเตียงจำนวนมากกว่ามีความมั่นคงกว่าเพราะมีประกันอุบัติเหตุให้ด้วย การโฆษณาแผ่นพับของจำเลยดังกล่าวเป็นการจูงใจให้บุคคลมาใช้บริการของจำเลย ซึ่งตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ โฆษณา หรือประกาศหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาหรือประกาศด้วยประการใดๆ ซึ่งชื่อ ที่ตั้งหรือกิจการของสถานพยาบาลหรือคุณวุฒิหรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพสถานพยาบาลเพื่อชักชวนให้มีผู้มาขอรับบริการจากสถานพยาบาลของตน โดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริง หรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล" ดังนั้น การที่จำเลยระบุในแผ่นพับในช่องผู้ประกันตนที่รับได้ว่า โจทก์รับได้ 25,000 คน ช่องระยะเวลาเข้าร่วมโครงการประกันสังคมว่า โจทก์เพิ่งเริ่มเข้า ช่องขนาดโรงพยาบาลว่า โจทก์มี 150 เตียง ช่องประสบการณ์การบริหารงานโรงพยาบาลด้านโครงการประกันสังคมว่าโจทก์ไม่มีประสบการณ์เลย ซึ่งความเป็นจริงทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า โจทก์มีจำนวนผู้ประกันตนที่รับได้ 50,000 คน โจทก์มีเตียง 400 เตียง และโจทก์เข้าร่วมโครงการประกันสังคมตั้งแต่ปี 2535 โจทก์จึงมีประสบการณ์ตั้งแต่ปีที่เข้าร่วมโครงการเป็นต้นมา จึงเป็นการที่จำเลยเผยแพร่แผ่นพับโฆษณาไม่ตรงกับความจริงโดยมีเจตนาให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า โรงพยาบาลจำเลยมีศักยภาพดีกว่าโรงพยาบาลโจทก์เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่ามีประสบการณ์มากกว่า จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริงโดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริงเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 และเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ คำว่า สิทธิ หมายความถึงประโยชน์ของโจทก์ที่มีอยู่ และจำเลยหรือบุคคลอื่นต้องเคารพหรือได้รับการรับรองคุ้มครองตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่สิทธิเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 423

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 150,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนถึงวันที่จำเลยหยุดกระทำละเมิดต่อโจทก์

จำเลยให้การว่า ขณะฟ้องโจทก์ยังไม่ได้รับความเสียหายด้านชื่อเสียงการทำมาหาได้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 พฤศจิกายน 2541) จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยได้ออกแผ่นพับโฆษณาโรงพยาบาลของจำเลยโดยมีข้อความพาดพิงถึงโรงพยาบาลของโจทก์ตามใบโฆษณาแผ่นพับเอกสารหมาย จ.20 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงความเสียหายที่ได้รับสภาพกิจการ รายรับรายจ่ายในการประกอบกิจการ คำฟ้องในส่วนค่าเสียหายจึงไม่แจ้งชัดและไม่แสดงถึงการคิดค่าเสียหาย จึงไม่ทราบว่าโจทก์เสียหายอย่างไร ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดว่า จำเลยโฆษณาโรงพยาบาลของจำเลยโดยเสนอแผ่นพับต่อประชาชนและใบแผ่นพับดังกล่าวมีข้อมูลเปรียบเทียบศักยภาพโรงพยาบาลของจำเลยกับโรงพยาบาลอื่นๆ ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลของโจทก์ด้วยและข้อมูลในแผ่นพับชี้ในทำนองว่าศักยภาพของโรงพยาบาลโจทก์ด้อยกว่าโรงพยาบาลของจำเลย ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง และล่วงละเมิดต่อสิทธิประโยชน์ซึ่งโจทก์มีอยู่ซึ่งคำบรรยายฟ้องของโจทก์สามารถทำให้เข้าใจได้ว่าโจทก์เสียหายอย่างใด ส่วนการคิดค่าเสียหายโจทก์คิดค่าเสียหายจากการที่โจทก์มีคนไข้ลดลงซึ่งทำให้รายได้ของโจทก์น้อยลงส่วนรายละเอียดอื่นๆ เป็นเรื่องที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า การทำแผ่นพับโฆษณาของจำเลยเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดหรือทำให้โจทก์เสียหาย เห็นว่า ข้อมูลเปรียบเทียบศักยภาพของจำเลยในใบแผ่นพับโฆษณาตามเอกสารหมาย จ.20 จำเลยแสดงผลการเปรียบเทียบให้เห็นว่าโรงพยาบาลของจำเลยดีกว่า น่าใช้บริการมากกว่า เพราะมีผู้ประกันตนที่รับได้จำนวนมากที่สุด สะดวกสบายกว่า มีจำนวนเครื่อข่ายหลายแห่งกว่า มีประสบการณ์ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยมากกว่าเพราะมีผู้เข้าร่วมโครงการประกันสังคมเป็นจำนวนมากกว่าใครโรงพยาบาลของจำเลยใหญ่กว่าเพราะมีเตียงจำนวนมากกว่า มีความมั่นคงกว่าเพราะมีประกันอุบัติเหตุให้ด้วย การโฆษณาแผ่นพับของจำเลยดังกล่าวเป็นการจูงใจให้บุคคลมาใช้บริการของจำเลย ซึ่งตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ โฆษณา หรือประกาศ หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาหรือประกาศด้วยประการใดๆ ซึ่งชื่อ ที่ตั้งหรือกิจการของสถานพยาบาลหรือคุณวุฒิหรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพสถานพยาบาลเพื่อชักชวนให้มีผู้มาขอรับบริการจากสถานพยาบาลของตน โดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริงหรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล" ดังนั้น จากการที่จำเลยระบุในแผ่นพับตามเอกสารหมาย จ.20 ในช่องจำนวนผู้ประกันตนที่รับได้ว่า โจทก์รับได้ 25,000 คน ระบุในช่องระยะเวลาเข้าร่วมโครงการประกันสังคมว่า โจทก์เพิ่งเริ่มเข้า ระบุในช่องขนาดโรงพยาบาลว่าโจทก์มี 150 เตียง และระบุในช่องประสบการณ์การบริหารงานโรงพยาบาลด้านโครงการประกันสังคมว่า โจทก์ไม่มีประสบการณ์เลย ซึ่งความเป็นจริงทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่าโจทก์มีจำนวนผู้ประกันตนที่รับได้ 50,000 คน โจทก์มีเตียง 400 เตียง และโจทก์เข้าร่วมโครงการประกันสังคมตั้งแต่ปี 2535 โจทก์จึงมีประสบการณ์ตั้งแต่ปีที่เข้าร่วมโครงการเป็นต้นมา จึงเป็นการที่จำเลยเผยแพร่แผ่นพับโฆษณาไม่ตรงกับความจริงโดยมีเจตนาให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า โรงพยาบาลจำเลยมีศักยภาพดีกว่าโรงพยาบาลโจทก์เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่ามีประสบการณ์มากกว่า การโฆษณาของจำเลยดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริงโดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริงเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 ดังกล่าวแล้ว และเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ คำว่า สิทธิ หมายความถึงประโยชน์ของโจทก์ที่มีอยู่ และจำเลยหรือบุคคลอื่นต้องเคารพหรือได้รับการรับรองคุ้มครองตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่สิทธิเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 423 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยในประการสุดท้ายว่า โจทก์เสียหายเพียงใด โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เสียหายเป็นเงิน 3,000,000 บาท ส่วนจำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า จำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้กระทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ดังนั้น จำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์แต่การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้วินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ซึ่งในข้อนี้ปรากฏว่านายแพทย์สุดชาย กรรมการโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์เรียกเก็บจากคนไข้ของโจทก์สูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐ และในช่วงเวลานั้นมีผู้ป่วยใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐมากขึ้น จึงน่าเชื่อว่า การที่มีผู้ใช้บริการของโจทก์ลดลงน่าจะมีผลกระทบมาจากการที่เศรษฐกิจตกต่ำด้วย โดยโจทก์ไม่อาจนำสืบถึงค่าเสียหายได้ชัดเจน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 1,000,000 บาท จึงเหมาะสมแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของโจทก์และจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน" พิพากษายืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10448/2553  ข้อความทั้งหมดตามบทความสรุปว่า โจทก์ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่กำกับดูแลกรมศาสนา ทำงานไม่เป็น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกาย ท่าดีทีเหลว โอบอุ้มพระธัมมชโยเนื่องจากรับเงินสินบนจากพระธัมมชโย 150,000,000 บาท เมื่ออ่านโดยตลอดแล้วมีลักษณะเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ซึ่งจำเลยทั้งสามก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่ลักษณะของการแสดงความคิดเห็นหรือเสนอข้อเท็จจริงโดยสุจริตหรือติชมด้วยความเป็นธรรม จำเลยทั้งสามจึงกระทำละเมิดต่อโจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 250,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

ทนายกอบเกียรติ  เอี่ยมสงวน นบ.นบท. ผู้รวบรวม

โทร : 086-403-1447

ไลน์ไอดี : kobkiatlaw

แสกนคิวอาร์โค้ด

 LINE@ สำนักงาน  :  @811ztyjo

Visitors: 140,601