ข้อต่อสู้ในการยื่นคำให้การสู้คดีเช่าซื้อรถกรณีไฟแนนซ์ฟ้องค่าขาดราคาส่วนต่างจากการขายทอดตลาด มีอะไรบ้าง

 

ข้อต่อสู้ในการยื่นคำให้การสู้คดีเช่าซื้อต่อศาล กรณีไฟแนนซ์ฟ้องค่าขาดราคาส่วนต่างจากการขายทอดตลาด

๑.ประเด็นผู้ให้เช่าซื้อหรือไฟแนนซ์ไม่ปฎิบัติตาม ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญ

(๕) เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงไม่ว่ากรณีใด ๆ และผู้ให้เช่าซื้อได้กลับเข้าครอบครองรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ที่ให้เช่าซื้อ ทั้งนี้ก่อนนํารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขายโดยวิธีประมูลหรือ วิธีขายทอดตลาดที่เหมาะสม ผู้ให้เช่าซื้อมีหน้าที่ดําเนินการตามลําดับ ดังต่อไปนี้

ก. ผู้ให้เช่าซื้อต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อ ใช้สิทธิซื้อก่อนได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ โดยผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อ ตามอัตราและการคิดคํานวณตาม (๑๐) แต่ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ใช้สิทธิดังกล่าวภายในระยะเวลานั้น ให้ผู้ให้เช่าซื้อ มีหนังสือแจ้งผู้ค้ําประกันทราบเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่สิ้นระยะเวลาการใช้สิทธิของ ผู้เช่าซื้อเพื่อให้ผู้ค้ําประกันใช้สิทธินั้น โดยให้ผู้ค้ําประกันได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้เช่าซื้อ กรณีผู้ให้เช่าซื้อไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ผู้ให้เช่าซื้อต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุ ของการไม่ได้แจ้งแก่ผู้เช่าซื้อหรือผู้ค้ําประกัน แล้วแต่กรณี

ข. ผู้ให้เช่าซื้อต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ําประกัน (ถ้ามี) ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า เจ็ดวันก่อนวันประมูลหรือวันขายทอดตลาด ทั้งนี้ ในหนังสือแจ้งนั้นอย่างน้อยต้องระบุชื่อผู้ทําการขาย วันและสถานที่ที่ทําการขายในแต่ละครั้งไว้ในหนังสือฉบับเดียวกันก็ได้ กรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อนํารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขายตามวรรคหนึ่ง หากได้ราคาเกินกว่า มูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อต้องคืนเงินส่วนที่เกินนั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่ถ้าได้ ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดส่วนที่ขาดนั้น

ค. ผู้ให้เช่าซื้อต้องมีหนังสือแจ้งชื่อผู้ทําการขาย วัน สถานที่ที่ทําการขาย ราคาที่ขายได้ และรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขาย ทั้งนี้ เพียงเท่าที่ได้ใช้จ่ายไปจริง โดยประหยัด ตามความจําเป็น และมีเหตุผลอันสมควร รวมทั้งจํานวนเงินส่วนเกินที่คืนให้แก่ผู้เช่าซื้อ หรือจํานวนเงินที่ผู้เช่าซื้อต้องรับผิด ในมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ให้ผู้เช่าซื้อทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทําการขาย ทั้งนี้ ผู้เช่าซื้อจะไม่ได้รับส่วนลดตามอัตราและการคิดคํานวณตาม (๑๐) มูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อตาม ก. และ ข. ให้คํานวณจากเงินค่างวดที่ค้างชําระ และเงินค่างวดที่ยังไม่ถึงกําหนดชําระที่ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องชําระให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ และให้หมายความรวมถึงเบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ ทั้งนี้ เพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ใช้จ่ายไปจริง โดยประหยัด ตามความจําเป็น และมีเหตุผลอันสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 31/2560 "การเรียกค่าขายรถที่เช่าซื้อไปแล้วขาดทุนนั้นคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดในค่าขาดราคาหรือไม่ เพียงใด โดยศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงยุติว่า 1 โจทก์ไม่ได้แจ้งการประมูลรถยนต์ที่เช่าซื้อให้จำเลยทั้งสองทราบ และ
2 โจทก์ไม่ได้นำพยานมาสืบให้ได้ความว่า การขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อมีความเหมาะสมถูกต้องตามหลักเกณฑ์การขายทอดตลาดโดยทั่วไปหรือไม่ จึงรับฟังไม่ได้ว่า การขายทอดตลาดโดยการประมูลราคาดังกล่าวของโจทก์เป็นการกระทำที่เหมาะสม ซึ่งโจทก์จะพึงมีสิทธิเรียกค่าขาดราคาจากสัญญาเช่าซื้อได้อีก โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อ เอกสารหมาย จ.5 ข้อ 12 วรรคท้าย ระบุว่า "ในกรณีธนาคารบอกเลิกสัญญาและกลับเข้าครอบครองรถ ธนาคารจะแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ" ส่วนข้อ 14 ระบุว่า "กรณีที่ธนาคารได้รถกลับคืนมา ธนาคารตกลงว่าหากนำรถออกขายได้ราคาเกินกว่าจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญานี้ ธนาคารจะคืนเงินส่วนเกินนั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่หากได้ราคาน้อยกว่าจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญานี้ ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดส่วนที่ขาดเฉพาะในกรณีที่ธนาคารได้ขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสมเท่านั้น" และสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.6 ข้อ 2 ระบุว่า "หากผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดไว้ไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือผิดสัญญาเช่าซื้อไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วนจนเป็นเหตุให้ธนาคารได้รับความเสียหาย หรือรถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดความเสียหายไม่ว่าด้วยเหตุใด แม้โดยอุบัติเหตุ เหตุสุดวิสัย หรือภัยพิบัติเหตุใดที่ไม่อาจป้องกันได้ ผู้ค้ำประกันยินยอมที่จะชำระหนี้ของผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ธนาคารทันทีจนครบถ้วน ความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันตามสัญญานี้เป็นความรับผิดต่อธนาคารร่วมกันกับผู้เช่าซื้อและในฐานะลูกหนี้ร่วมด้วย ทั้งนี้ โดยไม่คำนึงถึงว่าธนาคารได้ทวงถามหรือบอกกล่าวผู้ค้ำประกันแล้วหรือไม่ก็ตาม" ดังนั้น ก่อนนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาด โจทก์จึงมีหน้าที่จะต้องแจ้งล่วงหน้าให้จำเลยที่ 1 ทราบเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้จำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิซื้อรถยนต์กลับคืนตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ เมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความโดยชัดแจ้งว่า โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิซื้อรถกลับคืนดังกล่าว ประกอบกับโจทก์มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้ได้ความว่า การขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อมีความเหมาะสมถูกต้องตามหลักเกณฑ์การขายทอดตลาดโดยทั่วไป คดีจึงยังฟังไม่ได้ว่า โจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยเหมาะสมตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 14. โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกราคารถยนต์ส่วนที่ขาดอยู่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภคเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน"

2.ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืน ก่อนผิดนัด

"ผู้เช่าซื้อส่งมอบรถคืนผู้ให้เช่าซื้อก่อนผิดนัดชำระหนี้ สัญญาเช่าจึงเป็นอันเลิกกัน  เมื่อผู้ให้เช่าซื้อนำรถไปขายทอดตลาดได้ราคาน้อยกว่าราคาตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดในค่าขาดราคา หรือค่าส่วนต่างจาการขายทอดตลาด  กรณีนี้หากยังมีการฟ้องเรียกค่าเสียหายมาอยู่อีก็ต้องยื่นคำให้การต่อสู้คดีเพื่อให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5239/2561 ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ 2 งวด โดยยังไม่ผิดนัด จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปส่งมอบคืนให้แก่โจทก์อันเป็นเวลาก่อนถึงกำหนดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 3 หนึ่งวัน แสดงว่าในขณะส่งคืนทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อจำเลยที่ 1 ยังหาได้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ กรณีไม่ใช่เรื่องที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแล้วนำรถคันที่เช่าซื้อไปส่งมอบคืนให้แก่โจทก์ แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่าซื้อในขณะที่ตนเองยังมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 573 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยการส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง อันเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญาได้และส่งผลให้สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประพฤติผิดสัญญา แม้ในสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อความว่า กรณีที่เจ้าของได้รถกลับคืนมาไม่ว่าจะด้วยเหตุที่เจ้าของเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาหรือผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาโดยการส่งมอบพื้นที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของ เจ้าของนำรถออกขายได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดทุนตามสัญญา ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดส่วนที่ขาดก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่ปรากฏว่าขณะที่สัญญาเลิกกันจำเลยที่ 1 มีหนี้ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาจากจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันย่อมไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย

3.ยื่นคำให้การต่อสู้เรื่องอายุความคดีเช่าซื้อรถ กรณีไฟแนนซ์ฟ้องค่าขาดราคาส่วนต่างจากการขายทอดตลาดซึ่งมีอายุความ ๑๐ ปี

4.การยื่นคำให้การต่อสู้ว่าค่าเสียหายที่เรียกร้องเป็นเบี้ยปรับสูงเกินส่วนซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ปพพ. มาตรา 379 และมาตรา 383 วรรคหนึ่ง

5.อื่น ๆ แล้วแต่ข้อเท็จจริงในคดีนั้น ๆ

 

กอบเกียรติ เอี่ยมสงวน นบ.นบท.ทนายความ

ติดต่อทนาย 

 โทร : 086-403-1447

ไลน์ไอดี : kobkiatlaw

 

 

หรือLINE@ สำนักงาน

 

 

Visitors: 125,662