ผ่อนค่างวดเช่าซื้อรถไม่ไหว ต้องทำอย่างไรไม่ให้ถูกฟ้อง
ผู้เช่าซื้อรถ แต่ผ่อนค่างวดไม่ไหว
ควรทำอย่างไรไม่ให้ถูกฟ้อง
1.ขายดาวน์โดยเปลี่ยนชื่อผู้เช่าซื้อในสัญญา
หรือเปลี่ยนชื่อคู่สัญญาผู้เช่าซื้อ
และหรือผู้ค้ำประกันแล้วแต่กรณีเป็นบุคคลอื่นที่จะผ่อนชำระและใช้รถต่อจากเรา
2.ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืน
ก่อนผิดนัด
"ผู้เช่าซื้อส่งมอบรถคืนผู้ให้เช่าซื้อก่อนผิดนัดชำระหนี้
สัญญาเช่าจึงเป็นอันเลิกกัน เมื่อผู้ให้เช่าซื้อนำรถไปขายทอดตลาดได้ราคาน้อยกว่าราคาตามสัญญาเช่าซื้อ
ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดในค่าขาดราคา หรือค่าส่วนต่างจาการขายทอดตลาด กรณีนี้หากยังมีการฟ้องเรียกค่าเสียหายมาอยู่อีก็ต้องยื่นคำให้การต่อสู้คดีเพื่อให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5239/2561
ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์
จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ 2 งวด โดยยังไม่ผิดนัด จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปส่งมอบคืนให้แก่โจทก์อันเป็นเวลาก่อนถึงกำหนดชำระค่าเช่าซื้องวดที่
3 หนึ่งวัน
แสดงว่าในขณะส่งคืนทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อจำเลยที่ 1 ยังหาได้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ กรณีไม่ใช่เรื่องที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแล้วนำรถคันที่เช่าซื้อไปส่งมอบคืนให้แก่โจทก์
แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่าซื้อในขณะที่ตนเองยังมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัด
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 573 ซึ่งบัญญัติว่า
ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยการส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง
อันเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญาได้และส่งผลให้สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน
เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประพฤติผิดสัญญา
แม้ในสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อความว่า กรณีที่เจ้าของได้รถกลับคืนมาไม่ว่าจะด้วยเหตุที่เจ้าของเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาหรือผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาโดยการส่งมอบพื้นที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของ
เจ้าของนำรถออกขายได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดทุนตามสัญญา
ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดส่วนที่ขาดก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่ปรากฏว่าขณะที่สัญญาเลิกกันจำเลยที่
1 มีหนี้ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด
โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาจากจำเลยที่ 1 ได้
เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันย่อมไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย
3.การรีไฟแนนซ์หรือขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้
เช่น
ขอขยายระยะเวลาการผ่อนชำระยาวออกไป ขอลดยอดผ่อนในแต่ละเดือนลง ตามที่เหมาะที่ควร
ปัญหาดังกล่าวนี้ผู้เขียนพบว่าได้มีผู้มาปรึกษาคดีประเภทนี้เป็นจำนวนมากเป็นลำดับต้น
ๆ จึงได้รวบรวมวิธีการทางกฎหมายที่คิดว่าน่าจะทางออกเป็นประโยชน์ สามวิธีดังกล่าว
ส่วนวิธีอื่น ๆ เช่น การขายให้คนอื่นไปผ่อนแทน
หากบุคคลนั้นไม่ชำระหนี้หรือนำรถไปขายต่อ ไปจำนำ ผู้เช่าซื้อก็จะต้องถูกดำเนินคดี
จึงเป็นวิธีการที่ไม่ปลอดภัยในทางกฎหมาย
กอบเกียรติ เอี่ยมสงวน ทนายความ.นบ.นบท. ผู้เขียน