ผู้จัดการมรดกหรือทายาทที่โกงมรดก จะมีสิทธิรับมรดกส่วนที่โกงไปนั้นอีกหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2562

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1605 วรรคหนึ่ง, 1747, 1750 วรรคสอง

              จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โดยมีบุตรด้วยกัน 7 คน รวมทั้งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่โจทก์ได้รับเงิน 6,000,000 บาท จากผู้ตายโดยเสน่หาในระหว่างเวลาที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ หาทำให้สิทธิในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ต้องเสื่อมเสียไปไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1747 และแม้จะมีข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว แต่เมื่อไม่ได้ทำสัญญาโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิอาจบังคับได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง กรณีจึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายแก่ทายาทโดยธรรมทุกคนตามสัดส่วน

ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ โดยมีทรัพย์มรดกหลายรายการ ได้แก่ เงินสดที่ฝากไว้กับธนาคารต่าง ๆ หุ้นในบริษัท และที่ดินอีกหลายแปลง ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยจำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดก แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้เปลี่ยนแปลงชื่อในการครอบครองทรัพย์มรดกและเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นหลายรายการมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้โอนทรัพย์มรดกดังกล่าวต่อให้บุคคลอื่นอีก จึงไม่เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยักย้ายโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทอื่น ไม่เป็นเหตุให้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง แต่การที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินบางโฉนดที่เป็นทรัพย์มรดกซึ่งรับโอนมาแล้ว โอนขายแก่จำเลยที่ 4 ในราคา 11,100,000 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์และทายาทอื่นเสื่อมประโยชน์ในการได้รับการแบ่งปัน จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาถึงราคาที่ดินซึ่งขายสูงกว่าราคาประเมินตามที่โจทก์และฝ่ายจำเลยรับกันว่ามีราคา 9,950,000 บาท หากแบ่งเป็นสินสมรสในส่วนของจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งคิดเป็นเงินเพียง 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 8 ส่วน ทายาทจะได้รับคนละ 693,750 บาท แต่จำเลยที่ 2 ยังมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนอื่นอีก อันมีมูลค่ามากกว่าที่ดินโฉนดที่โอนขายไป จำเลยที่ 2 จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ยักย้าย คิดเป็นเงิน 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 7 ส่วน ทายาทอื่นได้รับคนละ 792,857 บาท และจำเลยที่ 2 ยังคงเหลือส่วนที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกอยู่อีกคิดเป็นเงิน 4,856,250 บาท ส่วนการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งมิใช่ทายาท จำนวน 16,000 หุ้น จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกส่วนนี้คนละ 8,000 หุ้น เพราะน้อยกว่าหุ้นซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 พึงจะได้รับหลังแบ่งแก่จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งแล้ว คนละ 11,875 หุ้น ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายเพียงบางส่วน

โจทก์ฟ้องขอให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการแทนโดยถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาโดยให้จำเลยทั้งห้าเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียม

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายกำจร ผู้ตาย แบ่งเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักนานาเหนือ บัญชีเลขที่ 000 1 87xxx x และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสยามสแควร์ บัญชีเลขที่ 152 2 35xxx x เมื่อแบ่งสินสมรสกึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วแบ่งให้แก่โจทก์ 1 ใน 8 ส่วน รวมเป็นเงิน 2,207,093.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แบ่งเงินสลากออมสิน ธนาคารออมสิน เมื่อแบ่งสินสมรสกึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว แบ่งให้แก่โจทก์ 1 ใน 8 ส่วน เป็นเงิน 125,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แบ่งเงินค่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1494, 5634, 5635, 8319 และ 8320 เมื่อแบ่งสินสมรสกึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว แบ่งให้แก่โจทก์ 1 ใน 8 ส่วน เป็นเงิน 3,797,562.50 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้กำจัดมิให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับมรดกส่วนของนายกำจร ผู้ตาย ให้แบ่งเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสยามสแควร์ บัญชีเลขที่ 152 2 35xxx x ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักนานาเหนือ บัญชีเลขที่ 000 1 87xxx x และสลากออมสิน ธนาคารออมสิน รวมเป็นเงิน 3,109,457.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 พฤษภาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1494 ระหว่างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ดินโฉนดเลขที่ 8319 และเลขที่ 8320 ระหว่างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 3 เฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของนายกำจร ผู้ตาย แล้วให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ในที่ดินส่วนที่เพิกถอนการโอนดังกล่าวให้โจทก์ 1 ใน 6 ส่วน กับให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตาย ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนหุ้นในบริษัทแสงอุทัยพัฒนาการ จำกัด บริษัทสินพลเอนยีเนียริ่ง จำกัด และห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล แสงอุทัย ระหว่างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 3 และที่ 5 เฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของนายกำจร ผู้ตาย แล้วให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ในหุ้นส่วนที่เพิกถอนการโอนดังกล่าวให้โจทก์ได้รับ 1 ใน 6 ส่วน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายกำจร ผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 7 คน ได้แก่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์ นางสาวเรวดี นางสาวกอบกุล นางสาวกอบแก้ว และนางสาวพรฤดี ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2547 ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมและมีสินสมรสร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นทรัพย์มรดก คือ เงินฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสยามสแควร์ บัญชีเลขที่ 152 2 35xxx x จำนวน 18,800,435.96 บาท เงินฝากที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักนานาเหนือ บัญชีเลขที่ 000 1 87xxx x จำนวน 16,513,053.81 บาท ที่ดินทั้งหมด 11 แปลง เฉพาะที่ดินพิพาทในคดีนี้มี 5 แปลง ได้แก่ (1) ที่ดินโฉนดเลขที่ 1494 เนื้อที่ 3 ไร่ 38 ตารางวา (2) ที่ดินโฉนดเลขที่ 5634 และเลขที่ 5635 เนื้อที่แปลงละ 1 งาน 99 ตารางวา และ (3) ที่ดินโฉนดเลขที่ 8319 และเลขที่ 8320 เนื้อที่แปลงละ 2 งาน 3 ตารางวา หุ้นในบริษัทแสงอุทัยพัฒนาการ จำกัด จำนวน 93,099 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท เป็นเงิน 93,099,000 บาท หุ้นในบริษัทสินพลเอนยีเนียริ่ง จำกัด จำนวน 190,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็นเงิน 19,000,000 บาท เงินค่าหุ้นในห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล แสงอุทัย จำนวน 54,000,000 บาท สลากออมสิน ธนาคารออมสิน จำนวน 2,000,000 บาท ต่อมาวันที่ 16 มิถุนายน 2548 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงมาเป็นชื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดก โดยที่ดินลำดับ (1) วันที่ 8 กรกฎาคม 2553 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไถ่ถอนจำนองจากนางสาวนงพงา แล้วร่วมกันจดทะเบียนโอนแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ดินลำดับ (2) วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จดทะเบียนโอนแก่จำเลยที่ 2 ครั้นวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายแก่จำเลยที่ 4 ในราคา 11,100,000 บาท และที่ดินลำดับ (3) วันที่ 2 กรกฎาคม 2553 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนแก่จำเลยที่ 3 สำหรับหุ้นของผู้ตายในบริษัทแสงอุทัยพัฒนาการ จำกัด เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2552 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 4,655 หุ้น โอนให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 9,310 หุ้น และโอนให้แก่จำเลยที่ 3 จำนวน 79,134 หุ้น ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนหุ้น ของผู้ตายในบริษัทสินพลเอนยีเนียริ่ง จำกัด แก่จำเลยที่ 5 จำนวน 16,000 หุ้น และโอนหุ้นมรดกส่วนที่เหลือ 174,000 หุ้น แก่จำเลยที่ 3 และวันที่ 18 กันยายน 2552 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จดทะเบียนให้จำเลยที่ 3 รับเงินค่าหุ้นจำนวน 54,000,000 บาท ของผู้ตายในห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล แสงอุทัย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ได้รับเงิน 6,000,000 บาท จากผู้ตายโดยเสน่หาในระหว่างเวลาที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ หาทำให้สิทธิในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ต้องเสื่อมเสียไปไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1747 ทั้งนางสาวกอบแก้วเบิกความว่า พยานไม่เคยแจ้งว่าไม่ประสงค์ทรัพย์มรดกส่วนที่เหลือ เช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่า แม้จะมีข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว แต่เมื่อไม่ได้ทำสัญญาโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิอาจบังคับได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสอง กรณีจึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายแก่ทายาทโดยธรรมทุกคนตามสัดส่วน เว้นแต่ทายาททุกคนยินยอม หรือหากตกลงกันไม่ได้ในท้ายที่สุดก็ต้องนำทรัพย์มรดกออกขายเพื่อแบ่งเงินกัน อย่างไรก็ดี ตามพฤติการณ์ดังกล่าวที่มีการแบ่งปันเงินให้แก่ทายาทโดยธรรมไปแล้ว 4 คน และมีทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกันอีกส่วนหนึ่ง แสดงว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น ประกอบกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมอยู่ด้วยรวม 3 คน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องถือเอาเสียงข้างมาก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แบ่งปันทรัพย์มรดกอันได้แก่ ที่ดินพิพาท 5 แปลง และหุ้นพิพาทตามฟ้อง ย่อมต้องมีการปรึกษากัน โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์และบุตรทุกคน ทำให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ต้องให้ความเป็นธรรมแก่บุตรทุกคน พฤติการณ์ที่นางสาวกอบกุล นางสาวกอบแก้ว นางสาวเรวดี และนางสาวพรฤดียอมรับเงินคนละ 5,000,000 บาท มีเหตุให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เชื่อว่าบุคคลดังกล่าวไม่ประสงค์จะได้รับการแบ่งปันทรัพย์มรดกอื่นของผู้ตายอีก ส่วนโจทก์ก็ได้รับเงินจากผู้ตายขณะมีชีวิตอยู่เป็นจำนวนมาก แสดงว่ามีข้อเสนอบางประการให้ผู้ตายจนยินยอมให้เงินถึง 6,000,000 บาท การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินลำดับ (1) ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ดินลำดับ (2) ให้แก่จำเลยที่ 2 และโอนที่ดินลำดับ (3) ให้แก่จำเลยที่ 3 รวมทั้งหุ้นในบริษัทแสงอุทัยพัฒนาการ จำกัด ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หุ้นในบริษัทสินพลเอนยีเนียริ่ง จำกัด ให้แก่จำเลยที่ 3 และค่าหุ้นของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล แสงอุทัยให้แก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้โอนทรัพย์มรดกดังกล่าวต่อไปให้บุคคลอื่นอีก จึงไม่เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำการยักย้ายทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่น จึงไม่เป็นเหตุถูกกำจัดทำมิให้รับมรดกของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง แต่การที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินลำดับ (2) ที่รับโอนมาแล้วโอนขายแก่จำเลยที่ 4 ในราคา 11,100,000 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์และทายาทอื่นเสื่อมประโยชน์ในการได้รับการแบ่งปัน จึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของผู้ตายตามบทบัญญัติข้างต้น เมื่อพิจารณาถึงราคาที่ดินซึ่งขายสูงกว่าราคาประเมินตามที่โจทก์และฝ่ายจำเลยรับกันว่ามีราคา 9,950,000 บาท หากแบ่งเป็นสินสมรสในส่วนของจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งแล้วคงคิดเป็นเงินตามทรัพย์มรดกรายการนี้เพียง 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 8 ส่วน ทายาทจะได้รับคนละ 693,750 บาท แต่จำเลยที่ 2 ยังมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนอื่นอีก อันมีมูลค่ามากกว่าที่ดินลำดับ (2) จำเลยที่ 2 จึงต้องถูกกำจัดเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้าย คิดเป็นเงิน 5,550,000 บาท ซึ่งจะนำไปแบ่งเป็น 7 ส่วน ทายาทอื่นได้รับคนละ 792,857 บาท และจำเลยที่ 2 ยังคงเหลือส่วนที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกอยู่อีกคิดเป็นเงิน 4,856,250 บาท ส่วนการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นในบริษัทสินพลเอนยีเนียริ่ง จำกัด 16,000 หุ้น แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งมิใช่ทายาท จึงต้องกำจัดมิให้รับมรดกส่วนนี้คนละ 8,000 หุ้น เพราะน้อยกว่าหุ้นซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 พึงจะได้รับหลังแบ่งแก่จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งแล้ว คนละ 11,875 หุ้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายเพียงบางส่วนดังที่วินิจฉัยข้างต้น ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน

มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ประการต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินและหุ้นพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ศาลฎีกาวินิจฉัยในเบื้องต้นแล้วว่า คดีนี้เป็นกรณีของผู้จัดการมรดก คือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งต้องจัดการมรดกร่วมกันโดยอาศัยเสียงข้างมาก ประกอบกับมีพฤติการณ์อันทำให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เข้าใจว่า ที่โจทก์และทายาทอื่นตกลงจะไม่รับมรดกส่วนอื่น จึงจัดการมรดกโดยแบ่งปันทรัพย์มรดกบางส่วนแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แม้การกระทำดังกล่าว ถือว่าเป็นการจัดการมรดกโดยมิชอบก็เพียงแต่ไม่มีผลผูกพันทายาทอื่นหรือโจทก์เท่านั้น ไม่ถึงขนาดทำนิติกรรมซึ่งผู้จัดการมรดกทั้งสามมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก ตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งโจทก์ชอบที่จะขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 2 เท่านั้นในฐานะทายาท แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการเพิกถอนนิติกรรมเช่นนี้ ทั้งมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 4 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและเสียค่าตอบแทนย่อมต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาไม่เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินลำดับ (2) ชอบแล้ว และเมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินลำดับ (1) และ (3) กับโอนหุ้นพิพาทแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามฟ้อง โดยมิได้แบ่งปันแก่ทายาทอื่นโดยมิชอบ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินและหุ้นพิพาทดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฟังขึ้นบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนที่ดินและหุ้นพิพาทเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของผู้ตายชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องและคำให้การต่างรับข้อเท็จจริงกันว่ารายการทรัพย์สินตามฟ้องเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายย่อมมีผลให้การสมรสสิ้นสุดลง ซึ่งต้องแบ่งสินสมรสให้ผู้ตายกับจำเลยที่ 1 ได้ส่วนเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 (1) ประกอบมาตรา 1533 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีอำนาจจัดการมรดกเฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเท่านั้น ไม่อาจจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของบุคคลอื่น แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ร่วมในการจัดการมรดกโดยยินยอมแบ่งส่วนของตนแก่ทายาทในฐานะส่วนตัว การที่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวก็เพื่อให้กลับสู่กองมรดกเท่านั้น ย่อมไม่อาจก้าวล่วงในส่วนที่เป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนในแต่ละรายการตามฟ้องทั้งหมดได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินลำดับ (1) และ (3) กับหุ้นพิพาทเฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ขอให้คิดดอกเบี้ยในเงินฝากธนาคารกับเงินสลากออมสิน นับแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2549 อันเป็นวันที่ผู้จัดการมรดกมีอำนาจแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้น ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกนั้น โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านปัญหาข้อนี้มาว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องเพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้กำจัดจำเลยที่ 2 มิให้รับมรดกของผู้ตายในส่วนเงินจำนวน 5,550,000 บาท และกำจัดจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิให้รับมรดกในส่วนของหุ้นในบริษัทสินพลเอนยีเนียริ่ง จำกัด คนละ 8,000 หุ้น ให้จำเลยที่ 2 ชำระราคาค่าที่ดินโฉนดเลขที่ 5634 และเลขที่ 5635 โดยแบ่งเป็น 1 ใน 7 ส่วน แก่โจทก์เป็นเงิน 792,857 บาท สำหรับทรัพย์สินรายการอื่นตามฟ้องให้แบ่งแก่โจทก์รายการละ 1 ใน 8 ส่วน โดยให้หักเงินและหุ้นที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกกำจัดนำไปแบ่งเฉลี่ยแก่โจทก์และทายาทอื่นตามส่วน นอกจากที่แก้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

(ชาติชาย อัครวิบูลย์-อธิคม อินทุภูติ-พิชัย เพ็งผ่อง)

 

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นายสมชาติ เลิศลิขิตวรกุล

ศาลอุทธรณ์ - นางสาวมาลี เตชะจันตะ

แหล่งที่มากองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

 

สรุปทายาทหรือผู้จัดการมรดกที่โกงหรือขายทรัพยมรดกไปโดยทุจริตเสียหายแก่ทายาทอื่น จะถูกกำจัดมิให้รับมรดก ไม่สิทธิรับมรดกในส่วนนั้น ๆอีก ซึ่งต้องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อกำจัดมิให้รับมรดก

 

 

Visitors: 123,610