เมื่อเจ้าหนี้ไม่มีหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วันนับแต่ลูกหนี้ผิดนัด ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นหรือไม่
หลักกกฎหมาย ที่มีการแก้ไขใหม่ กำหนดว่า
“มาตรา ๖๘๖ เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ
ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง
เมื่อเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้หรือผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้ตามวรรคหนึ่งผู้ค้ำประกันอาจชำระหนี้ทั้งหมดหรือใช้สิทธิชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชำระหนี้ที่ลูกหนี้มีอยู่กับเจ้าหนี้ก่อนการผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่ตนต้องรับผิดก็ได้ และให้นำความในมาตรา ๗๐๑ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในระหว่างที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามวรรคสามเจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพราะเหตุที่ลูกหนี้ผิดนัดในระหว่างนั้นมิได้
การชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันตามมาตรานี้ ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของผู้ค้ำประกันตามมาตรา ๖๙๓”
ดังนี้จะเห็นว่า จากกฎหมายมาตราดังกล่าว เป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ที่จะต้องแจ้งผู้ค้ำประกันทราบ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดเพื่อที่ผู้ค้ำฯจะได้ชำระหนี้ เพื่อไม่เกิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มเติม หากเจ้าหนี้ละเลยไม่แจ้งผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย และ ค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหนี้ประธาน ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลา 60 วันดังกล่าว แต่ ผู้ค้ำประกันยังคงต้องรับผิดในดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และค่าภาระติดพัน ซึ่งเกิดขึ้นก่อนพ้นกำหนดระยะเวลา 60 วันดังกล่าว