เช็คเพื่อค้ำประกันเป็นอย่างไร เช็คเด้งผิดอาญาหรือไม่

วัตถุประสงค์ของการออกเช็ค หรือสั่งจ่ายเช็ค โดยทั่วไปหลัก ๆแล้ว มีได้หลายอย่าง เช่น ออกเช็คเพื่อชำระหนี้คือให้นำเช็คใบนั้นไปขึ้นเงินชำระหนี้เลย กับอีกอย่างหนึ่ง  คือ  ออกเช็คเพื่อ “ค้ำประกันหนี้หรือ”เป็นหลักประกันการชำระหนี้” ไว้คือ เพื่อให้เจ้าหนี้เชื่อถือหรือสบายใจ ว่าตนจะชำระหนี้คืน  ซึ่งการออกเช็คเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้นั้น  จะไม่เป็นความผิดทางอาญา เพราะ ความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.เช็คฯ นั้น ต้องเป็นการออกเช็คเพื่อ “ชำระหนี้” เท่านั้น  เจ้าหนี้จึงไม่สามารถดำเนินคดีอาญาได้ แต่สามารถฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งได้ และหากมีการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา จะถือว่าเป็นความผิดฐานฟ้องเท็จและแจ้งความเท็จ รวมถึงเบิกความเท็จ ได้อีกด้วย 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2547 

          โจทก์เป็นผู้จัดหาหนังสือสัญญากู้ยืมเงินมาด้วยตนเอง และเป็นผู้กรอกข้อความเอง ซึ่งปรากฏว่าโจทก์มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี หากเห็นว่าข้อความในหนังสือสัญญาไม่สัมพันธ์หรือใช้ไม่ได้กับการออกเช็คพิพาทในข้อสาระสำคัญ โจทก์ย่อมทราบดีและน่าจะทำการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง เมื่อหนังสือสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับมีข้อความตรงกันในข้อ 4 ว่า เพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงิน จำเลยผู้กู้นำเช็คพิพาทแต่ละฉบับมอบให้ไว้แก่โจทก์ผู้ให้กู้เพื่อยึดไว้เป็นประกันเงินกู้ ข้อความดังกล่าวมีความหมายชัดเจนว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เป็นหลักประกันในการที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์มิใช่เช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2542 

          จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์ และมีข้อความระบุไว้ในสัญญาว่า เพื่อเป็นหลักฐานในเงินซึ่งจำเลยได้กู้ไปนี้จำเลยได้นำเช็คจำนวน 1 ฉบับ ให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกันด้วยย่อมมีความหมายชัดแจ้งว่า เช็คฉบับดังกล่าวเป็นเช็คที่จำเลยได้ออกให้แก่โจทก์เป็นหลักประกันในการที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป มิใช่เช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ แม้ตามหนังสือสัญญากู้เงินจะมีข้อความว่าในจำนวนเงินซึ่งจำเลยได้กู้ไปนี้ จำเลยจำนำมาใช้ให้โจทก์เสร็จภายในวันที่ลงไว้ในเช็คก็ตาม ก็จะตีความว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ไม่ได้ ดังนี้ เมื่อจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อ เป็นหลักประกันการชำระหนี้ มิได้ออกเพื่อชำระหนี้แล้ว จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิด อันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 แม้ต่อมาจำเลย จะได้ขอผัดผ่อนชำระเงินต้นคืนแก่โจทก์ และขอให้โจทก์ อย่านำเช็คไปเรียกเก็บเงินก็ไม่ทำให้จำเลยกลับมีความผิดไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  396/2543

ากษาการที่โจทก์ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 500,000 บาทให้แก่จำเลยนั้น เป็นการออกเช็คเพื่อค้ำประกันเงินกู้ที่โจทก์กู้ไปจากจำเลยจำนวน120,000 บาทเมื่อจำเลยนำเช็คพิพาทฉบับดังกล่าวไปฟ้องกล่าวหาว่าโจทก์ออกเช็คให้แก่จำเลยเพื่อชำระหนี้เงินกู้โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมาตรา 4 จึงเป็นการฟ้องคดีอาญาต่อศาลว่าโจทก์กระทำความผิดการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ

จำเลยเบิกความในการพิจารณาคดีอาญาของศาลชั้นต้นยืนยันตามฟ้องว่าเช็คพิพาทตามที่จำเลยฟ้องเป็นเช็คที่โจทก์ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ออกเช็คพิพาทให้จำเลยยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่โจทก์มีอยู่ต่อจำเลย คำเบิกความของจำเลยย่อมเป็นความเท็จและเป็นข้อสาระสำคัญในคดี เพราะถ้าศาลชั้นต้นฟังว่าเช็คพิพาทโจทก์ออกให้จำเลยเพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ ศาลชั้นต้นก็อาจพิพากษาลงโทษจำคุกโจทก์ได้ ดังนั้น จำเลยย่อมมีความผิดฐานเบิกความเท็จ

การที่จำเลยฟ้องเท็จและเบิกความเท็จในคดีอาญา ถึงแม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้อง แต่โจทก์ผู้ถูกฟ้องย่อมได้ความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย

การที่โจทก์ออกเช็คพิพาทและเขียนหนังสือประกอบการออกเช็คให้จำเลยมิใช่เพื่อจำเลยนำมาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ โจทก์จึงมิได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลย

การที่จำเลยนำความเท็จมาฟ้องโจทก์และเบิกความเท็จนั้น ก็โดยเจตนาให้โจทก์ต้องโทษทางอาญา หากศาลเชื่อว่าเป็นความจริงดังคำฟ้องและคำเบิกความของจำเลยแล้ว โจทก์อาจถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกได้ ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุก

 

ตัวอย่างหลักฐานว่าเป็นการออกเช็คค้ำประกันหนี้

เช่น ตกลงกันเอาเช็คค้ำประกันเงินกู้โดยระบุใว้ในสัญญากู้ว่ามีเช็คค้ำประกัน  ตกลงกันด้วยวาจาหรือข้อความว่าเช็คค้ำประกันหนี้  เขัยนลงใว้ในใบเช็คว่าค้ำประกันและเจ้าหนี้ตกลงรับรู้  และ พฤติการณ์อื่น ๆ

 

ทค กอบเกียรติ นบ.นบท.ผู้รวบรวม

Visitors: 145,453