การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฎีกา ทำอย่างไร

 

 การขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์หรือ ฎีกาต้องทำอย่างไร

ในคดีแพ่งและคดีอาญาทั่วไป ไม่รวมถึงคดีประเภทอื่นเช่น คดีปกครอง การยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต้องทำภายในกำหนดเวลา  1 เดือนนับแต่วันที่ศาลได้อ่านคำพิพากษา ซึ่งหากคู่ความฝ่ายที่ประสงค์จะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาไม่สามารถยื่นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดได้ เช่น เพราะยังไม่ได้รับคำพิพากษา อยู่ระหว่างหาทนายความ หรือต้องการจะยื้อเวลาออกไป เป็นต้น จะต้องขอขยายระยะเวลาต่อศาล โดยการยื่นคำร้อง อ้างเหตุผลตามที่กฎหมายกำหนด ก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลา โดยจะต้องระบุถึงมีพฤติการณ์พิเศษ ที่ทำให้ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ฎีกาได้ทันด้วย

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23  กำหนดว่า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือมีคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนี้หรือตามที่ศาลได้กำหนดไว้ หรือระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ในกฎหมายอื่น เพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาใด ๆ ก่อนสิ้นระยะเวลานั้นแต่การขยายหรือย่นเวลาเช่นว่านี้ให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย

 

“การขอขยายระยะเวลา” ต้องทำเป็นคำร้องขอตามกฎหมาย เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 ซึ่งมีหลักว่า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือมีคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนี้หรือตามที่ศาลได้กำหนดไว้ ....

 

หลักเกณฑ์การยื่นคำร้องขอขยาย

๑) คู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องยื่นคำร้องขอ ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ คือ ก่อนครบกำหนด ถ้าครบกำหนดแล้วจะขอไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย

๒) ในคำร้องขอต้องอ้างว่า มีพฤติการณ์พิเศษใดที่ทำให้ตนไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวได้

๓) เมื่อศาลเห็นสมควรกรณีศาลเห็นสมควรก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลานั้น ศาลมีอำนาจทั่วไปในการขยายได้ ไม่จำต้องมีพฤติการณ์พิเศษ

 

ตัวอย่างพฤติการณ์พิเศษ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 
2752/2548  
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2545 แต่วันครบกำหนดฎีกาตรงกับวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2545 จำเลยจึงมีสิทธิยื่นฎีกาในวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2545 และแม้จำเลยยื่นคำแถลงขอถ่ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 และได้รับเอกสารที่ขอถ่ายในวันที่ 27 มิถุนายน 2545 ก็ตาม แต่เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับเอกสารที่ขอถ่ายจนถึงวันที่จำเลยมีสิทธิยื่นฎีกาแล้วปรากฏว่ายังมีเวลาเหลืออยู่อีก 18 วัน ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จะทำคำฟ้องฎีกายื่นต่อศาลได้ทัน ที่จำเลยอ้างเหตุในการขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาว่า ทนายจำเลยได้ศึกษาข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์แล้วปรากฏว่ามีหลายประเด็นที่แตกต่างไปจากข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นซึ่งทนายจำเลยต้องทำรายงานเสนอคณะกรรมการบริษัทจำเลยพิจารณาอนุมัติยื่นฎีกา ระยะเวลาที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอที่คณะกรรมการบริษัทจำเลยจะพิจารณาอนุมัติยื่นฎีกาและทนายจำเลยไม่สามารถจัดทำฎีกายื่นต่อศาลได้ทันนั้น ก็ไม่ปรากฏว่านับแต่วันที่จำเลยได้รับเอกสารที่ขอถ่ายจนถึงวันที่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาคือวันที่ กรกฎาคม 2545 ทนายจำเลยได้ดำเนินการไปถึงไหน เรื่องอยู่ในขั้นตอนใด และมีข้อขัดข้องอย่างไรที่ทำให้ทนายจำเลยไม่สามารถยื่นฎีกาภายในเวลาที่ยังเหลืออยู่อีก วันได้ทัน ถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 695/2509 
'เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา23 หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งได้มิได้หมายถึงว่า'พฤติการณ์พิเศษที่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาไม่อาจกระทำได้ภายในกำหนดนั้นต้องเป็นเหตุสุดวิสัยเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 23 จึงไม่จำต้องเป็นเหตุอันเกิดจากภัยธรรมชาติซึ่งไม่มีใครอาจป้องกันได้ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา หากมีพฤติการณ์นอกเหนือที่ศาลไม่อาจมีคำสั่งขยายเวลาให้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาย่อมนับได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยการสั่งขยายเวลาศาลมีอำนาจสั่งเองได้ โดยคู่ความไม่ต้องร้องขอ
ระยะเวลา 14 วันที่กำหนดให้ลูกหนี้ของบุคคลผู้ล้มละลายปฏิเสธหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 119 นั้นศาลอาจสั่งขยายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 และการที่เจ้าหนี้ปฏิเสธหนี้ส่งทางไปรษณีย์ถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ช้าไป วันนั้น ก็ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะสั่งขยายเมื่อพ้นกำหนดเวลาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2535 
เหตุสุดวิสัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือเหตุที่คู่ความไม่สามารถมีคำขอขึ้นมาก่อนกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายหรือศาลกำหนดไว้ การที่ทนายจำเลยหลงลืมไม่ได้ยื่นใบแต่งทนายความพร้อมกับคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดนั้น เป็นเพราะทนายจำเลยขาดความรอบคอบหรือไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตามมาตราดังกล่าว

 

ตัวอย่างกรณีไม่ถือว่ามีพฤติการณ์พิเศษ  หรือเหตุสุดวิสัย เช่น

-จำเลยเตรียมค่าฤชาธรรมเนียมมาไม่พอมาวางศาล ทนายจำเลยบอกให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินจากธนาคาร จำเลยเบิกเงินไม่ทัน ยังถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษ (ฏีกา.176/2535) 

- ทนายติดต่อตัวความนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลไม่ได้ หรือตัวความไม่นำเงินมาให้ ไม่ใช่พฤติการณ์พิเศษ (เป็นความผิดของจำเลยเอง) (ฎีกา. 23/2522255/2517)

-  อ้างว่า ทนายจำเลยหลงลืมไม่ได้ยื่นใบแต่งทนายความพร้อมกับคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดนั้น เป็นเพราะทนายจำเลยขาดความรอบคอบหรือไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเท่านั้นเอง มิใช่เหตุสุดวิสัย ฎ.๒๕๖๙/๒๕๓๕

 

ตัวอย่างคำร้องขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฎีกา

ตัวอย่างการขอขยายอุทธรณ์ครั้งที่ ๑

                 ข้อ ๑ คดีนี้ศาลได้โปรดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑              ผู้ร้องขอประทานกราบเรียนศาลที่เคารพว่า จำเลยมีความประสงค์จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาล แต่เนื่องจากจำเลยยังไม่ได้รับเอกสารในสำนวนที่ได้ขอคัดถ่ายไว้  และอยู่ระหว่าง เรียงคำฟ้องอุทธรณ์ไม่สามารถเรียงอุทธรณ์ยื่นต่อศาลได้ทันภายในระยะเวลากฎหมายกำหนดได้  ด้วยเหตุดังกล่าวถือได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่เกิดขึ้น  ดังนั้น  เพื่อให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่  จำเลยจึงขอศาลได้โปรดมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีกสัก ๑ เดือน นับแต่วันครบกำหนดจนถึงวันที่   ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม   ขอศาลได้โปรดอนุญาต

 

ตัวอย่างการขอขยายอุทธรณ์ครั้งที่ ๒

             ข้อ ๑.คดีนี้ศาลได้โปรดอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปจนถึงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ปรากฎในสำนวนแล้วนั้น

              ข้อ ๒. ผู้ร้อง ขอกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่า  เนื่องจากทนายจำเลยทั้งสอง   อยู่ระหว่างจัดทำอุทธรณ์ ของจำเลยที่ ๑  ซึ่งมีบรรดาสรรพเอกสารข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจำนวนมาก ประกอบกับทนายจำเลยทั้งสอง ติดว่าความและเขียนอุทธรณ์และฎีกา คดีอื่นซึ่งนัดหมายไว้ก่อนแล้วจำนวนหลายเรื่อง ทำให้ไม่สามารถเรียงอุทธรณ์ เพื่อยื่นต่อศาลได้ทันภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดอนุญาตได้

                 ด้วยเหตุดังกล่าวถือได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่เกิดขึ้น  ดังนั้น  จำเลยทั้งสอง จึงขอศาลได้โปรดมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ ๑ ออกไปอีกสัก ๑ เดือน นับแต่วันครับกำหนด  จนถึงวันที่  ๑๘  มีนาคม   ๒๕๖๒   เพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยได้สู้คดีอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม   ขอศาลได้โปรดอนุญาต 

 

ปรึกษาเกี่ยวกับการยื่นอุทธรณ์ ฎีกา 

โทร 0864031447

ไลน์ Kobkiatlaw

 

ไลนสำนักงาน  @811ztyjo

 

Visitors: 123,607