ทายาทตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันด้วยวาจาไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ มีผลทางกฎหมายอย่างไร

ทายาทตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันด้วยวาจาไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ..มีผลทางกฎหมายอย่างไร 

           หลักกฎหมาย ปพพ.  มาตรา  1750 กำหนดว่า "การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท

          ถ้าการแบ่งปันมิได้เป็นไปตามวรรคก่อน แต่ได้ทำโดยสัญญา จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ในกรณีเช่นนี้ให้นำมาตรา 850, 852 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับโดยอนุโลม"

          การแบ่งทรัพย์มรดกทำได้ดังนี้

          1. โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือ

          2. โดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท หรือ

          3. โดยการทำสัญญาแบ่งทรัพย์มรดก ซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ

ตัวอย่างฎีกา

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1681/2564 ขณะที่ ร.ถึงแก่ความตาย ร.มีทั้งทรัพย์สินและหนี้สิน ดังนั้นมรดกของ ร. ย่อมได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของ ร. ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่าง ๆ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1600 เช่นนี้แล้วโจทก์และ ว. จึงต้องรับมรดกของ ร. ไปทั้งสิทธิในทรัพย์สินที่จะตกทอดได้แก่ตน และหน้าที่ในความรับผิดในหนี้ทั้งหลายที่จะต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดกของ ร. ด้วย เพียงแต่โจทก์และ ว. ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1601 แต่โจทก์และ ว. ย่อมสามารถตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันเองได้โดยต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นสัดส่วน หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท หรือทำโดยสัญญาได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1750 

         โจทก์และ ว. ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ร. โดย ว. ยกทรัพย์มรดกในส่วนที่ตกทอดแก่ตนให้โจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์มรดกแต่เพียงผู้เดียว และโจทก์เป็นผู้รับผิดชอบในการชำระหนี้กองมรดกทั้งหมดของ ร. โดย ว. ไม่ต้องรับผิดชอบในการชำระหนี้กองมรดกและไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกของ ร. ต่อไป ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวแม้การที่ ว. ตกลงยกทรัพย์มรดกของ ร. ในส่วนที่ตกทอดแก่ตนให้โจทก์เพียงผู้เดียว มิใช่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ร. โดยโจทก์และ ว. ต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนนสัดตาม ป.พ.พ.มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกและหนี้เพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ให้เสร็จไปโดยโจทก์และ ว. ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน และทำให้โจทก์ได้ไปซึ่งสิทธิในการรับทรัพย์มรดกของ ร. ทั้งหมดตลอดทั้งหน้าที่และความรับผิดในการชำระหนี้กองมรดกของ ร. ทั้งหมด ส่วน ว. ได้สิทธิไปโดยไม่ต้องร่วมรับผิดในการชำระหนี้กองมรดกของ ร. กับโจทก์ต่อเจ้าหนี้กองมรดกของ ร. แม้ข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์กับ ว. ดังกล่าวไม่อาจใช้ยันต่อเจ้าหนี้กองมรดกของ ร. ได้ก็ตาม เพราะเจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนใดก็ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1737 แต่ก็อาจใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา

        แต่เมื่อข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์กับ ว. ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อโจทก์ และ ว. ฝ่ายที่ต้องรับผิดนั่นเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1750 วรรคสอง ดังนั้นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับ ว. จึงไม่มีผลให้โจทก์ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสามแปลงและการที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนมรดกในที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้ ว. นั้น มีผลเป็นเพียงให้ ว. รับโอนมรดกไว้แทนทายาทอื่น แม้ต่อมาเมื่อ ว. ถึงแก่ความตายมีการจดทะเบียนโอนมรดก(ระหว่างจำนอง)ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้จำเลยทั้งสองก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองก็เป็นเพียงผู้สืบสิทธิของ ว. จึงได้สิทธิไปเท่าที่ ว. มีอยู่ในฐานะมีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามแปลงแทนทายาทอื่นของ ร. ด้วยเช่นกัน จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสามแปลง กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าทรัพย์มรดกของ ร. ยังไม่มีการแบ่งปันระหว่างโจทก์กับ ว. ดังนั้น ทั้งโจทก์และ ว. ยังคงมีส่วนเท่ากันในกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1633 และมาตรา 1746 เมื่อที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นทรัพย์มรดกของ ร. ที่ยังไม่ได้แบ่งปันระหว่างโจทก์กับ ว. โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายเป็นการส่วนตัวและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้

          สรุป ข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อ ฝ่ายที่ต้องรับผิดนั่นเป็นสำคัญ มีผลทางกฎหมายคือ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1750 วรรคสอง ถือได้ว่าทรัพย์มรดกของ ยังไม่มีการแบ่งปันระหว่างทายาท แต่ละคน ยังคงมีส่วนเท่ากันในกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ทายาทชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน

ทนายกอบเกียรติ  0864031447

Visitors: 138,611