การฟ้องเรียกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจะเรียกได้เท่าไร จนบุตรอายุกี่ปี

 การฟ้องเรียกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจะเรียกได้เท่าไร จนบุตรอายุกี่ปี 

 

เรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้จนบุตรอายุกี่ปี

     โดยทั่วไปเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้ถึงอายุ ๒๐ ปี  (บรรลุนิติภาวะ )หรือจนจบชั้นปริญญาตรี เว้นแต่บุตรเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ ตาม  มาตรา ๑๕๖๔ ซึ่งกำหนดว่า บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

 

เรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้เท่าไร 

การเรียกค่าอุปการะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจน แต่ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ข้อเท็จจริง ค่าใช้จ่ายของบุตร ความสามารถในการชำระ ของบิดามารดา โดยทั่วไปส่วนมากอาจตกลงกำหนด เป็นรายเดือน ตามแต่ช่วงอายุ วัยของบุตร เช่น ชั้นอนุบาล ๘,๐๐๐ บาท ประถม ๙,๐๐๐ มัธยมต้นเดือนละ ๑๐,๐๐๐ มัธยมปลายเดือนละ ๑๒,๐๐๐ บาท มหาวิทยาลัยจนจบปริญญาตรี เดือนละ ๑๔,๐๐๐ บาท ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน บิดามารดารับผิดชอบคนละครึ่ง เป็นต้น หรืออาจตกลงกันชำระเป็นเงินก้อนเดียว ทั้งนี้แล้วแต่ข้อเท็จจริงและค่าใช้จ่ายบุตรของแจ่ละคนแต่ละคดีแตตกต่างกันไป โดยบิดามารดารับผิดชอบคนละครึ่ง ตาม  บทบัญญัติมาตรา 1564 วรรคหนึ่ง กำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ซึ่งจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน(รับผิดชอบคนละครึ่ง)

       ทั้งนี้ตาม  มาตรา ๑๕๙๘/๓๘  บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี

 

เรียกค่าเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังได้หรือไม่ ได้กี่ปี

การฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรสามารถฟ้องย้อนเรียกย้อนหลังได้  แต่หากจำเลยต่อสู้เรื่องอายุความ ศาลจะตัดสินให้ย้อนหลังได้เพียง ๕ ปี  เพราะการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มีอายุความ 5 ปีนับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไป

 

ภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากฝ่ายชายได้หรือไม่

สามารถทำได้  คือ จะต้องจะฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร พร้อมกับฟ้องขอรับรองบุตรไปพร้อมกันในคดีเดียวก็ได้  โดยอ่านรายละเอียดได้ที่หัวข้อ >>ฟ้องขอให้จดทะเบียนรับรองบุตรหรือรับเด็กเป็นบุตร ทำอย่างไร หรือหาก   บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว หรือ บิดามารดามีการจดทะเบียนสมรสภายหลัง   ก็ถือเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน  ซึ่งการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร บิดานั้นจะต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเสียก่อน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2268/2533    ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสอง ให้อำนาจเด็กฟ้องคดีให้รับรองเด็กเป็นบุตรได้เองโดยเฉพาะ ขณะยื่นฟ้องเด็กซึ่งเป็นโจทก์ก็ยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย คดีของโจทก์จึงไม่เป็นคดีอุทลุมไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 ส่วนฟ้องของโจทก์ในเรื่องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งเป็นผลหลังจากที่มีการรับรองความเป็นบุตรของโจทก์แล้ว และเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการรับรองบุตร โจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูด้วย

 

ตัวอย่างเอกสารที่ใช้ในการดำเนินคดี มีอะไรบ้าง เช่น

๑.สำเนาสูติบัตรบุตรผู้เยาว์  

๒.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน บิดา มารดา และบุตร

. ใบทะเบียนรับรองบุตร (ถ้ามี)

. ภาพถ่ายความสัมพันธ์ บิดา มารดา(ถ้ามี)

. ผลตรวจดีเอ็นเอ จากโรงพยาบาล(ถ้ามี)

. เอกสารหลักฐานรายรับรายจ่าย ฐานะทางการเงิน ของบิดา มารดา บุตร

 

ฟ้องคดีค่าเลี้งดูบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัว ที่ใด 

 พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและ ครอบครัว พ.ศ.2553 ไม่ได้กำหนดเขตศาลไว้สำหรับคดีครอบครัวจึงต้องใช้หลักการกำหนดเขตศาลตามที่ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คือ ให้เสนอคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัว  ที่ "จำเลย"หรือ"ผู้ร้องมีภูมิลำเนา อยู่ในเขตศาล" หรือ"ศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล"  

 

คดีค่าเลี้ยงดูบุตรต้องเสียค่าขึ้นศาล เป็นเงินเท่าไร

๑.ค่าขึ้นศาล ๒๐๐ บาท

๒.ค่านำส่งคำคู่ความ ให้คูู่ความอีกฝ่ายหนึ่งประมาณ ๕๐๐ -๗๐๐ บาท

 

 ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๖๙๗/๒๕๔๘ บทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๙๘/๓๘ เป็นการกำหนดให้สิทธิแก่บิดามารดากับบุตรสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างกันได้เท่านั้น ส่วนการดำเนินการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูมีบทบัญญัติมาตรา ๑๕๖๕ ซึ่งกำหนดให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยกคดีขึ้นว่ากล่าวแล้วยังกำหนดให้บิดาหรือมารดาสามารถนำคดีขึ้นว่ากล่าวได้เองด้วย

บทบัญญัติมาตรา ๑๕๖๔ วรรคหนึ่ง กำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา ๒๙๖

โจทก์จำเลยได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยตกลงให้บุตรอยู่ในความปกครองของโจทก์ แต่มิได้ตกลงว่าโจทก์ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ได้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ฝ่ายเดียวจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่ได้ออกไปก่อนนับแต่วันหย่าจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะจากจำเลย เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมและเข้าใช้หนี้นั้นตามมาตรา ๒๒๙(๓) แม้ขณะยื่นฟ้องนั้นบุตรจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรสมควรจะเป็นจำนวนเท่าใด ศาลมีอำนาจกำหนดตามมาตรา๑๕๒๒

การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มีอายุความ 5 ปีนับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือในกรณีที่บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไปฝ่ายเดียว ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายนับแต่วันที่ตนได้ชำระไปซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/33 (4) ประกอบมาตรา 193/12

 

กฎหมายครอบครัวมาตราที่เกี่ยวข้อง

         มาตรา ๑๕๙๘/๓๘  ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี

               มาตรา ๑๕๙๘/๓๙  เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้

               ในกรณีที่ศาลไม่พิพากษาให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะเหตุแต่เพียงอีกฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ในขณะนั้น หากพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป และพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของผู้เรียกร้องอยู่ในสภาพที่ควรได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ผู้เรียกร้องอาจร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งในคดีนั้นใหม่ได้

               มาตรา ๑๕๙๘/๔๐  ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นให้ชำระเป็นเงินโดยวิธีชำระเป็นครั้งคราวตามกำหนด เว้นแต่คู่กรณีจะตกลงกันให้ชำระเป็นอย่างอื่นหรือโดยวิธีอื่น ถ้าไม่มีการตกลงกันและมีเหตุพิเศษ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอและศาลเห็นสมควร จะกำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นอย่างอื่นหรือโดยวิธีอื่น โดยจะให้ชำระเป็นเงินด้วยหรือไม่ก็ได้

               ในกรณีขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เมื่อมีเหตุพิเศษและศาลเห็นเป็นการสมควรเพื่อประโยชน์แก่บุตร จะกำหนดให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการใด ๆ นอกจากที่คู่กรณีตกลงกัน หรือนอกจากที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอก็ได้ เช่นให้ไปอยู่ในสถานการศึกษาหรือวิชาชีพ โดยให้ผู้ที่มีหน้าที่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูออกค่าใช้จ่ายในการนี้

 

ตัวอย่างข้อตกลงสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล

 

            ติดต่อทนายความ  โทร 0864031447 

ไลนไอดี @811ztyjo

ไลน์คิวอาร์โค้ด

 

 

Visitors: 145,453