กล่าวหรือลงข้อความที่ไม่ได้ระบุตัวบุคคลให้รู้ได้แน่นอนว่าหมายถึงใครจะผิดฐานหมิ่นประมาทได้หรือไม่

การกล่าวหรือส่งข้อความโดยไม่ได้ระบุตัวบุคคลให้รู้ได้แน่นอนว่าหมายถึงใคร จะความผิดฐานหมิ่นประมาทได้หรือไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5276/2562

      การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น  หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และมาตรา 328 ต้องเป็นการใส่ความระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความ  เป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าบุคคลที่ถูกใส่ความเป็นใคร  หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง  การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551 

 การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้องพิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใด

ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่าเป็นโจทก์ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้น ก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุเป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานกองบังคับการหมายเลข 5 ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใดบุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง มิได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์จึงยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์

 

กรณีกล่าวถึง ในลักษณะเป็นกลุ่มบุคคล โดยไม่ได้เจาะจงถึงผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลนั้น จะถือว่าทุกคนเป็นผู้เสียหายไม่ได้  

              ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1325/2498  กรณีที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทข้อความที่กล่าวจะต้องมุ่งเจาะจงถึงบุคคลใดโดยเฉพาะ และโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความถึงบุคคลผู้ถูกหมิ่นประมาทนั้นด้วย

เมื่อในคำโฆษณามีความหมายเฉพาะนายแพทย์ชายคนหนึ่งไม่มีกินความถึงนายแพทย์ทุก ๆ คนของโรงพยาบาลศิริราช ทั้งโจทก์หาได้นำสืบถึงนายแพทย์คนที่ถูกใส่ความหมิ่นประมาทก็ย่อมทราบไม่ได้ว่านายแพทย์คนใดเป็นผู้เสียหาย

เมื่อตามคำฟ้องไม่มีช่องทางแสดงให้เห็นว่าจำเลยมุ่งหมายกล่าวใส่ความถึงนายแพทย์เฉลิม นายแพทย์เฉลิมจึงมิใช่ผู้เสียหายอันจะพึงร้องทุกข์ได้

 

แต่หากข้อความมีความหมายเป็นการใส่ความเหมารวมไปถึงทุกคน ที่อยู่ในกลุ่มบุคคลนั้นเป็นหมิ่นประมาทได้ เช่น ใส่ความพระทั้งวัดที่มีแค่  6 รูป ใส่ความทนายความทั้งจังหวัดที่มีอยู่เพียง 10 คน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 295/2505 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328 โดยกล่าวในฟ้องว่า จำเลยได้โฆษณาด้วยเครื่องกระจายเสียงต่อชุมนุมชนซึ่งมาประชุมกันว่า'ทนายความเมืองร้อยเอ็ดคบไม่ได้ เป็นนกสองหัวเหยียบเรือสองแคม เป็นมวยล้ม ว่าความทีแรกดี ครั้นได้รับเงินแล้วก็ว่าเป็นอย่างอื่น' และได้กล่าวในฟ้องด้วยว่าทนายความจังหวัดร้อยเอ็ดมีอยู่ในวันที่จำเลยกล่าวข้อความนี้เพียง 10 คนและในขณะที่จำเลยกล่าว จำเลยได้เห็นโจทก์ซึ่งเป็นทนายความคนหนึ่งประกอบอาชีพว่าความอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ดเข้าประชุมอยู่ด้วยกับยืนยันมาในฟ้องว่าการที่จำเลยกล่าวเช่นนั้นก็โดยมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์และบรรดาผู้ประกอบอาชีพทนายความในจังหวัดร้อยเอ็ดทุกคนให้ได้รับความเสียหายดังนี้ เป็นฟ้องที่ควรให้มีการไต่สวนมูลฟ้องฟังข้อเท็จจริงต่อไป (ประชุมใหญ่ ครั้งที่10/2505)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2489 จำเลยกล่าวความหมิ่นประมาทพระทั้งวัดซึ่งมีอยู่รวม 6 องค์ต้องถือว่าทุกองค์เป็นผู้ได้รับความเสียหายและแต่ละองค์ย่อมมีอำนาจร้องทุกข์ได้

 

สรุป การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น ต้องเป็นการใส่ความระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความ  เป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าบุคคลที่ถูกใส่ความเป็นใคร  หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง  การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ระบุชื่อ นามสกุล ชื่อเล่น รูปภาพ หรือข้อมูลอื่น ๆ  หากไม่ดีระบุ ถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความ  เป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าบุคคลที่ถูกใส่ความเป็นใคร  หรือไม่ได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ไม่ได้เอ่ยชื่อ ไม่ได้มีรูปถ่ายประกอบข้อความในเฟซบุ๊ก  ก็ไม่เป็นหมิ่นประมาท

 

ทนายกอบเกียรติ นบ.นบท.0864031447

Visitors: 125,640