ทนายความคดีลูกหนี้รับสภาพหนี้ หนังสือรับสภาพความผิด

การรับสภาพหนี้  คดีลูกหนี้รับสภาพหนี้ หรือ รับสภาพควาผิด

โดยปกติแล้ว เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องลูกหนี้ได้ภายในอายุความที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะมีอายุความแตกต่างกันไปตามประเภทของมูลหนี้นั้น ๆ ได้ แต่หนี้บางอย่าง นั้นหากไม่ให้ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพเอาไว้ก็อาจเป็นการยากต่อการดำเนินคดี ในแง่ของข้อกฎหมาย หรือพยานหลักฐาน เช่น ในกากู้ยืมเงินเกินกว่า ๒,๐๐๐ บาท เจ้าหนี้ไม่ได้ให้ลูกหนี้ทำสัญญาลงลายมือชื่อเอาไว้ ย่อมไม่อาจฟ้องร้องเอาเงินคืนได้ตามกฎหมาย ดังนี้ เจ้าหนี้จะต้องให้ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้หรือทำสัญญาไว้ภายหลัง จึงจะใช้ฟ้องร้องดำเนินคดีได้ หรือในกรณีหนี้ที่ขาดอายุความไปแล้ว แม้ตามกฎหมายยังสามารถฟ้องร้องได้เพราะหากลูกหนี้ไม่ต่อสู้เรื่องอายุความแล้วศาลจะยกอายุความขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ก็ตาม แต่ก็เป็นการเสี่ยงและมีโอกาสสูงที่เจ้าหนี้จะไม่ได้รับชำระหนี้ ดังนั้นการทำหนังสือรับสภาพความผิดไว้ย่อมเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้ง หนังสือรับสภาพหนี้นั้นยังเป็นพยานหลักฐานชั้นดีในการฟ้องร้องอีกด้วย 

การรับสภาพหนี้หรือรับสภาพความผิด นั้นอาจเข้าใจว่าเหมือนกัน แต่ในทางกฎหมายนั้นมีแง่มุ่มความแตกต่างอยู่ในข้อกฎหมาย กล่าวโดยสรุปคือ

 ๑.กรณีรับสภาพหนี้มีได้เฉพาะภายในกำหนดอายุความ กล่าวคือจะต้องทำกันก่อนที่หนี้นั้นจะขาดอายุความ ซึ่งจะมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง และเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่นั้น ด้วย

 ๒กรณีรับสภาพหนี้หลังจากคดีขาดอายุความ การรับสภาพหนี้เป็นหนังสือ ภายหลังหนี้ขาดอายุความ เรียกว่า "การรับสภาพความผิด"  เป็นการที่ลูกหนี้สละประโยชน์แห่งอายุความที่ขาดไปแล้ว ทำให้ ลูกหนี้ยังต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพความผิดนั้น โดยมีกำหนดอายุความ ๒ ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความผิดซึ่งต่างกับการรับสภาพหนี้ที่ยังไม่ขาดอายุความ

หลักกฎหมาย

มาตรา 193/14   อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
               (1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยาย ว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง
               (2) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้
               (3) เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
               (4) เจ้าหนี้ได้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา
               (5) เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี
มาตรา 193/15   เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ
              เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

เรียบเรียงโดย กอบเกียรติ เอี่ยมสงวน( ทนายความ)

Visitors: 123,638