ลูกหนี้โอนทรัพย์สินที่ดินเพื่อไม่ให้ถูกบังคับคดี ต้องทำอย่างไร

ลูกหนี้โอน ยักย้าย ขายทรัพย์สินไม่ให้ถูกบังคับคดีจะแก้ไขอย่างไร

๑.ฟ้องคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้(อายุความ ๓ เดือนนับแต่รู้)

หลักกฎหมาย

มาตรา 349 ผู้ใดเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น ถ้าได้กระทำ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา 350 ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระ หนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล ให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

๒.การฟ้องคดีแพ่งเพิกถอนการโอน(เพิกถอนการฉ้อฉล)ระหว่างลูกหนี้กับผู้รับโอน

หลักกฎหมาย

มาตรา ๒๓๗  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

 

มาตรา ๒๓๘  การเพิกถอนดังกล่าวมาในบทมาตราก่อนนั้นไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอก อันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอน

อนึ่งความที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าสิทธินั้นได้มาโดยเสน่หา

 

มาตรา ๒๓๙  การเพิกถอนนั้นย่อมได้เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้หมดทุกคน

 

มาตรา ๒๔๐  การเรียกร้องขอเพิกถอนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น


 ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3211/2559 คดีก่อนเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแพ่งธนบุรีขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรม การโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 32761 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างผู้คัดค้านทั้งสองอันเป็นการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ส่วนคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอันเป็นการฉ้อฉลตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 237 ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายล้มละลายให้อำนาจแก่ผู้ร้องไว้เป็นกรณีพิเศษในอันที่จะกระทำการแทนเจ้าหนี้เพื่อรักษาสิทธิของเจ้าหนี้และเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้กลับเข้ามาในกองทรัพย์สินและนำมาแบ่งปันให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย เมื่อผู้ร้องไม่ใช่โจทก์ในคดีก่อน การยื่นคำร้องคดีนี้จึงไม่เป็นการยื่นคำร้องซ้อนกับคดีก่อน ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2560  คดีนี้โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2546 ส. เป็นเจ้าหนี้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเสียหายแก่ตน ระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าว ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23125 และ 23126 ที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา โดยไม่ปรากฏว่า ส. ผู้เป็นเจ้าหนี้ทราบเหตุดังกล่าว เมื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 บัญญัติให้การฟ้องเรียกร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลนั้น ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น ดังนี้ อายุความ 1 ปี จึงยังไม่เริ่มนับเนื่องจาก ส. เจ้าหนี้ได้ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนวันที่จำเลยทั้งสี่ทำนิติกรรมดังกล่าว ส. จึงมิอาจรู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนได้ แม้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จะได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีอาญาข้อหาโกงเจ้าหนี้โดยบรรยายฟ้องคดีอาญาว่า โจทก์ทราบการกระทำผิดของจำเลยทั้งสี่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 ก็ตาม ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเจ้าหนี้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในวันดังกล่าวกรณีจึงต้องบังคับตามอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ตอนท้าย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20มีนาคม 2557 ยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2547 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยเสน่หา สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ตอนท้าย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9852/2559  ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่มีมติให้ประธานกรรมการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมอบอำนาจให้ อ. เป็นผู้รับมอบอำนาจกระทำกิจการเป็นการทั่วไปหรือเฉพาะอย่างแทนประธานกรรมการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้ เป็นมติที่ให้ประธานกรรมการมอบอำนาจให้ อ. กระทำกิจการแทนประธานกรรมการในฐานะที่ประธานกรรมการเป็นผู้แทนคณะกรรมการชำระบัญชีตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ส่วนข้อความของมติต่อมาที่ว่า ในกิจการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ทั้งนี้เป็นไปตามนัย มาตรา 10 และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 นั้น เป็นการขยายความว่า กิจการที่มอบอำนาจให้ทำแทนประธานกรรมการนั้นจะต้องเกี่ยวกับหน้าที่ของประธานกรรมการในการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ไม่อาจแปลขยายความว่าเป็นกรณีที่ประธานกรรมการมอบอำนาจให้ อ. กระทำการแทนคณะกรรมการชำระบัญชีเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ทั้งหมด มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าการชำระบัญชีของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยสามารถกระทำการได้โดยบุคคลเพียงคนเดียว ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการตรา พ.ร.ฎ. ดังกล่าว  ที่กำหนดให้ต้องแต่งตั้งบุคคลขึ้นคณะหนึ่งเป็นคณะกรรมการชำระบัญชี เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการนำข้อสรุปเบื้องต้นตามบันทึกการประชุมเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการชำระบัญชีและมีมติให้ขายทรัพย์พิพาทแก่โจทก์ โจทก์จึงยังไม่ใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนในทรัพย์พิพาทได้อยู่ก่อน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2559 การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย..."แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าขณะที่ทำนิติกรรมจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนั้น จำเลยที่ ๓รู้ว่ามีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ที่ให้สิทธิโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทคืน ดังนี้ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในคำฟ้อง ยังไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ ฉบับลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ตามคำขอบังคับของโจทก์ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ ได้ ทั้งนี้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ ๓ มิได้ให้การต่อสู้ในเหตุนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๔๖ ประกอบมาตรา ๑๔๒ (๕)

Visitors: 123,722